รอยเตอร์ - รัฐบาลเวเนซุเอลาตัดสินใจประกาศ “ภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ” วานนี้ (15 ม.ค.) พร้อมเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบปี ซึ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะซบเซาอย่างรุนแรง อันมีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำและการแทรกแซงของภาครัฐ
ธนาคารกลางเวเนซุเอลาซึ่งถูกฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร วิพากษ์วิจารณ์เรื่องปกปิดตัวเลขทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่สิ้นปี 2014 ได้ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่า เศรษฐกิจของชาติละตินอเมริกาซึ่งเป็นสมาชิกองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) หดตัวถึง 4.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2015 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาเดียวกันก็พุ่งสูงลิ่วถึง 141.5 % ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในโลก
เศรษฐกิจเวเนซุเอลาที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลักคาดว่าจะทรุดลงอีกในปีนี้ หลังจากที่พรรคโซเชียลลิสต์ของ มาดูโร พ่ายแพ้การเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อเดือน ธ.ค. และต้องสูญเสียที่นั่งส่วนใหญ่ให้แก่ฝ่ายค้าน ซึ่งสาเหตุก็เป็นเพราะประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายการบริหารที่ง่อยเปลี้ยของรัฐบาล ทั้งที่เวเนซุเอลามีแหล่งน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก แต่พลเมืองส่วนใหญ่กลับยังยากจน
คำสั่งของ มาดูโร ซึ่ง ส.ส. ฝ่ายค้านที่กุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาแห่งชาติขู่ว่าพวกเขาอาจ “รับรอง” หรือ “ปฏิเสธ” ก็ได้ จะกำหนดภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจเป็นเวลา 60 วัน และให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีในการแทรกแซงภาคธุรกิจ หรือจำกัดการเข้าถึงสกุลเงิน
“เรากำลังเจอมรสุมลูกใหญ่อย่างแท้จริง” มาดูโร กล่าวขณะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
“นี่ไม่ใช่มรสุมของ มาดูโร อย่างที่ใครบางคนกล่าวหา แต่เป็นวิกฤตของชาติที่ส่งผลกระทบต่อชาวเวเนซุเอลาทุกครัวเรือน”
มาดูโร ยืนยันว่า รัฐบาลยังพร้อมที่จะชำระหนี้ต่างชาติแม้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลง และปฏิเสธคาดการณ์ในแง่ร้ายของวอลล์สตรีทที่ว่า การากัสอาจต้องผิดนัดชำระหนี้ (default) ในปีนี้
ผู้นำเวเนฯ ย้ำด้วยว่า “ถึงเวลาแล้ว” ที่จะต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่รัฐเคยอุดหนุนอย่างมาก สอดคล้องกับที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่แนะนำว่า การลดอุดหนุนเชื้อเพลิงจะช่วยให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง ทว่าเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายบั่นทอนฐานเสียงซึ่ง มาดูโร พยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด
ข้อมูลจากธนาคารกลางเวเนซุเอลา ระบุว่า ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 5,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ