เอเอฟพี - เวทีชุมนุมของพวกฝ่ายค้านผู้เดือดดาลของเวเนซุเอลา ในวันพุธ (3 พ.ค.) ประกาศประท้วงบนท้องถนนครั้งใหญ่ต่อต้านแผนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร และกล่าวหาเขายึดติดอำนาจหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งใหม่แม้เกิดเหตุความไม่สงบนองเลือด
ประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมัน แต่กลับเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหาร ยาและสิ่งจำเป็นพื้นฐาน อย่างเช่นสบู่และกระดาษชำระ ต้องเผชิญกับเหตุประท้วงต่อต้านมาดูโร หลายต่อหลายครั้งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และบ่อยครั้งที่การชุมนุมเลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บล้มตาย
สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างข้อมูลของแหล่งข่าวในสำนักงานอัยการระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงนับตั้งแต่การประท้วงปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน เพิ่มขึ้นเป็น 31 ศพแล้ว
พวกผู้ชุมนุมวางแนวขยะและถังขยะปิดกั้นถนนสายต่างๆ ในเวเนซุเอลาในวันอังคาร (2 พ.ค.) ในการประท้วงที่ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น หลังจาก มาดูโร แถลงแผนตั้งสภาประชาชนเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการกีดกันรัฐสภาที่มีฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากออกจากกระบวนการทางการเมือง และหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งใหม่
สภาประชาชนแห่งนี้จะไม่มีพรรคการเมืองเข้าร่วม โดยสมาชิกจะประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆของสังคม อย่างเช่นแรงงาน, เกษตรกรและชุมชนอื่นๆ ที่ภักดีต่อมาดูโร โดยประธานาธิบดีรายนี้อ้างว่ามันเป็นตัวแทนของทุกภาคส่วน แทนที่จะเป็นกลุ่มคนที่เป็นฐานเสียงของฝ่ายค้านเพียงอย่างเดียว
สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงการากัสถูกปิดและกองกำลังด้านความมั่นคงถูกส่งเข้าประจำการตามจุดสำคัญๆ
ในตอนเช้าวันพุธ (3 พ.ค.) ในขณะที่ผู้ชุมนุมชุดแรกๆ เริ่มรวมตัวกัน ขณะที่พันธมิตรฝ่ายค้าน MUD ประกาศว่าประท้วงล่าสุดนี้จะเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่
“แผนของมาดูโร มีเป้าหมายคือไม่ต้องการปรึกษาประชาชน แต่เลือกให้พรรครัฐบาลเป็นคนปรับแต่งรัฐธรรมนูญอีก” เฟดดี กูเอวารา รองประธานรัฐสภาที่ฝ่ายค้านครองเสียงข้างมาก ระบุ “เผด็จการทุกรายต้องล่มสลาย ละครที่เขาต้องการจัดฉากจะไม่สามารถพรากความเข้มแข็งไปจากเรา ประชาชนบนท้องถนน”
ด้าน มาดูโร กล่าวหาพวกฝ่ายค้านว่ากำลังเลือกใช้หนทางแห่งความรุนแรง “พวกเขากำลังเคลื่อนเข้าสู่ขั้นของการก่อความไม่สงบด้วยอาวุธ ในกรณีแวดล้อมที่อันตรายนี้ ทางเดียวที่จะรับประกันสันติภาพคือสภาประชาชนเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญ”
เขาบอกว่าจะเดินทางไปยังสภาเลือกตั้งแห่งชาติเพื่อเริ่มกระบวนการจัดตั้งสภาประชาชน แม้ฝ่ายค้านกล่าวหาว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวของมาดูโร คืออุบายลดโอกาสจัดการเลือกตั้งใหม่ ที่เสี่ยงทำให้เขาต้องตกเก้าอี้
ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีมีกำหนดจัดขึ้นในปีหน้า เมื่อวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีของมาดูโร สิ้นสุดลง หลังเขาได้รับเลือกมาในปี 2013 ทั้งนี้ จากผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุด พบว่ามีประชาชนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบแบบสอบถาม ไม่สนับสนุนมาดูโร โดยพวกเขากล่าวโทษผู้นำรายนี้ต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่กระพือภาวะขาดแคลนอาหารและเหตุจลาจล
มาดูโรบอกว่า รัฐธรรมนูญใหม่มีความจำเป็น เพื่อปัดเป่าสิ่งที่เขาให้คำจำกัดความว่าความพยายามรัฐประหารที่มีต่างชาติหนุนหลังเพื่อโค่นอำนาจเขา อย่างไรก็ตาม พวกฝ่ายค้านตอบโต้กลับ กล่าวหาเขาว่าพยายามทำรัฐประหารตัวเอง