เอเอฟพี - นโยบายจำกัดการใช้รถยนต์ในกรุงนิวเดลี ซึ่งส่งผลให้ปริมาณยานพาหนะในเมืองหลวงอินเดียลดลงประมาณ 1 ล้านคัน และแม้แต่นักการทูตหรือผู้พิพากษายังต้องหันมา “แชร์” รถยนต์ไปทำงานในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สิ้นสุดลงในวันนี้ (15 ม.ค.) โดยพบว่าค่ามลพิษในอากาศยังคงสูงกว่ามาตรฐานปลอดภัยขององค์การอนามัยโลกถึง 6 เท่าตัว
สภาพอากาศในกรุงนิวเดลียังมีมลพิษถึงขั้น “เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง” ในวันนี้(15) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการบังคับใช้กฎให้รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีหมายเลขทะเบียนคู่และคี่ใช้ถนนสลับวันกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่รู้สึกพอใจกับมาตรการนี้ และต้องการให้รัฐบาลบังคับใช้ในระยะยาว แม้ผลที่ชัดเจนที่สุดจะเป็นเพียงสภาพการจราจรที่ติดขัดน้อยลงก็ตาม
“ปัญหาการจราจรในนิวเดลีลดลงจริงๆ ก่อนหน้านี้ ผมต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมงเดินทางไปและกลับจากที่ทำงาน แต่ตอนนี้ใช้เวลาแค่ครึ่งหนึ่ง ผมสบายใจมาก” โรหิต ศรีวัสตาวา ผู้บริหารธนาคารวัย 32 ปีซึ่งแชร์รถยนต์กับเพื่อนร่วมงาน และหันไปใช้บริการรถไฟใต้ดินแบบวันเว้นวัน กล่าว
เตช บาฮาดูร์ ปาเตล คนขับรถสามล้อเครื่องวัย 38 ปี ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนที่น้อยลงทำให้เขาไม่ต้องเสี่ยงกับมลพิษมากเท่าแต่ก่อน
“รถน้อย การจราจรก็ไม่ค่อยติดขัด และพวกเราก็สูดดมควันพิษน้อยลงด้วย” เขากล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้มาตรการเช่นนี้อย่างถาวร
แม้การแหกกฎจะถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่นอย่างเดลี ทว่าคราวนี้ผู้ใช้รถส่วนใหญ่กลับยอมที่จะปฏิบัติตามกฎ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อีกปัจจัยสำคัญอาจอยู่ที่เงินค่าปรับ 2,000 รูปี (ราว 1,100 บาท) ซึ่งไม่ใช่น้อยๆ สำหรับคนเมืองหลวง
ทางการนิวเดลีประกาศว่า ค่ามลพิษช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงกว่า 50% ใน 18 ย่านทั่วเมืองหลวง แต่ไม่ได้เปิดเผยวิธีการและเกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจวัด และไม่อ้างอิงแหล่งข้อมูลอื่นๆ
สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงนิวเดลี แถลงว่า ค่า PM 2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคมลพิษขนาด 2.5 ไมโครมิเตอร์หรือเล็กกว่า ลดลงในวันแรกที่มีการจำกัดการใช้รถยนต์ ทว่าคุณภาพอากาศโดยรวมยังจัดว่า “เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง” ในเช้าวันนี้ (15) คืออยู่ที่ประมาณ 156 ไมโครกรัม สูงกว่าค่ามาตรฐานปลอดภัยที่ WHO กำหนดไว้ราวๆ 6 เท่าตัว
ศาลอินเดียพยายามผลักดันให้รัฐเร่งแก้ไขวิกฤตมลพิษในเมืองหลวงของประเทศ หลังจากปีที่แล้ว WHO ได้ประกาศให้กรุงนิวเดลีติดอันดับเมืองที่สภาพอากาศเป็นพิษสูงที่สุดในบรรดากว่า 1,600 เมืองใหญ่ที่ทำการสำรวจ ซึ่งสาเหตุสำคัญก็เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่มากถึง 8.5 ล้านคัน และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณวันละ 1,400 คัน