เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ยอมรับกับหนังสือพิมพ์ “บิลด์” ของเยอรมนีว่า มาตรการแซงก์ชันของตะวันตกสืบเนื่องจากวิกฤตยูเครนกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างรุนแรง กระนั้น ประมุขวังเครมลินก็สำทับว่า นโยบายดังกล่าว “โง่เขลา” อีกทั้งยืนยันการผนวกไครเมียของแดนหมีขาวเป็นเรื่องชอบธรรม พร้อมกับชี้ว่าสิ่งที่น่ากังวลกว่าคือ ราคาพลังงานขาลง
ในบทสัมภาษณ์ ซึ่ง บิลด์ นำออกมาเผยแพร่ในวันจันทร์ (11 ม.ค.) ปูตินระบุว่า มาตรการลงโทษของตะวันตกกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรัสเซีย โดยเฉพาะในตลาดการเงินระหว่างประเทศ
มอสโกถูกลงโทษจากอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) จากความขัดแย้งระหว่างกบฏแบ่งแยกดินแดนโปรรัสเซียกับกองกำลังยูเครนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 9,000 รายนับจากเดือนเมษายน 2014 โดยเฉพาะการประกาศผนวกดินแดนแหลมไครเมีย ขณะที่รัสเซียบอกว่าต้นเหตุความปั่นป่วนวุ่นวายในยูเครน เริ่มต้นจากการที่ฝ่ายตะวันตกยุยงสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลโปรรัสเซียในยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 และสถาปนาระบอบปกครองนิยมตะวันตกขึ้นมาแทนที่
ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อียูขยายมาตรการลงโทษรัสเซียต่ออีก 6 เดือน โดยให้เหตุผลว่า ข้อตกลงสันติภาพมินสก์ที่มอสโกร่วมลงนามยังไม่สำเร็จลุล่วง
อย่างไรก็ตาม ปูตินยืนยันกับสื่อเมืองเบียร์ว่า อันตรายใหญ่หลวงที่สุดสำหรับรัสเซียในขณะนี้คือ ราคาพลังงานขาลงที่ฉุดรายได้จากการส่งออกก้อนใหญ่ ทว่า รัสเซียยังสามารถหารายได้จากส่วนอื่นมาชดเชยได้บ้าง
ผู้นำแดนหมีขาวยังบอกอีกว่า การที่รัสเซียมีรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซน้อยลง ทำให้ซื้อสินค้าต่างชาติได้น้อยลง ดังนั้น สถานการณ์นี้จึงส่งผลให้พัฒนาการของประเทศอื่นชะลอลงด้วยเช่นกัน
ปูตินยืนยันด้วยว่า เศรษฐกิจรัสเซียกำลังฟื้นเสถียรภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป เขาหยิบยกข้อมูลของปีที่แล้วที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลงถึง 3.8% เงินเฟ้ออยู่ที่ 12.7% โดยประมาณ แต่ดุลการค้าขณะนี้ยังอยู่ในแดนบวก
“นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ ปีที่รัสเซียส่งออกสินค้ามูลค้าเพิ่มได้มากขึ้น และมีทองคำสำรองมูลค่ามากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์”
รัสเซียนั้นได้เข้าโจมตีทางอากาศในซีเรียนับแต่เมื่อวันที่ 30 กันยายนปีที่แล้ว และปูตินเรียกร้องในคราวนี้ ให้ตะวันตกร่วมมือกับมอสโกใกล้ชิดขึ้นในการต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)
จากการแถลงของมอสโกนั้น เป้าหมายการโจมตีของรัสเซียคือกลุ่มนักรบญิฮัดที่รวมถึงไอเอส ถึงแม้ตะวันตกกล่าวหาว่ารัสเซียโจมตีกลุ่มกบฏอื่นๆ ที่ต่อต้านประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรียด้วย
เมื่อถูกซักถามเกี่ยวกับวิกฤตในยูเครนที่เกิดจากการที่รัสเซียเข้าผนวกไครเมียในเดือนมีนาคม 2014 นั้น ปูตินตอบว่า สำหรับตัวเขาเองนั้น พรมแดนและอธิปไตยสำคัญน้อยกว่าอนาคตของประชาชน
“แน่นอนว่าทุกคนต้องเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่เว้นแม้แต่กรณีไครเมีย”
“ประชาชนรัสเซียเข้าใจสถานการณ์นี้ถ่องแท้ นโปเลียนเคยกล่าวไว้ว่า ความยุติธรรมคือการกลับมาจุติบนโลกของพระเจ้า ผมกำลังจะบอกว่า การที่ไครเมียกลับมาผนึกกับรัสเซียอีกครั้งคือความยุติธรรม” ปูตินสำทับว่า มาตรการลงโทษรัสเซียของตะวันตกเป็น “เรื่องโง่เขลา”
ทั้งนี้ ไครเมียเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาหลายร้อยปี และเพิ่งถูกโอนไปเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนในปี 1954 โดยในเวลานั้นทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต