xs
xsm
sm
md
lg

“ฮิลลารี คลินตัน” เสนอนโยบายรีดภาษีเพิ่มจากเหล่าเศรษฐีมะกันอีก 4%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครเต็งหนึ่งในศึกชิงตัวแทนพรรคเดโมแครต
เอเจนซีส์ - ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครเต็งหนึ่งในศึกชิงตัวแทนพรรคเดโมแครต เสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ เก็บภาษีกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดในประเทศเพิ่มจากปกติอีก 4% เพื่อให้มั่นใจว่า บรรดามหาเศรษฐีพันล้านไม่ได้จ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าชนชั้นกลาง

ภาษีพิเศษ 4% ที่ คลินตัน เสนอจะเรียกเก็บจากพลเมืองอเมริกันที่รายได้เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 0.02% ของผู้จ่ายภาษีทั้งหมด และจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 10 ปี

“การเก็บภาษีพิเศษเป็นวิธีตรงที่สุดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า ผู้ที่เลี่ยงการจ่ายภาษีอย่างเป็นธรรมจะต้องเสียภาษีตามอัตราที่แท้จริง (effective rates) เพิ่มขึ้น และกลุ่มชาวอเมริกันที่ร่ำรวยที่สุดก็จะต้องจ่ายภาษีสูงกว่าครอบครัวชนชั้นกลาง” ผู้ช่วยของ คลินตัน กล่าว

คลินติน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลโอบามาเทอมหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จะได้เป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ได้เผยนโยบาย “เก็บภาษีเพิ่มเพื่อความเป็นธรรม” ขณะขึ้นเวทีปราศรัยที่มลรัฐไอโอวา ซึ่งจะมีการหยั่งเสียงเลือกผู้แทนพรรคแบบ “คอคัส” เป็นรัฐแรกในวันที่ 1 ก.พ.

คลินตัน ประกาศสนับสนุน “กฎของบัฟเฟ็ตต์” (Buffett Rule) ซึ่งเป็นนโยบายรีดภาษีคนรวยที่รัฐบาล บารัค โอบามา เสนอขึ้นมาเมื่อปี 2011 โดยตั้งชื่อตามมหาเศรษฐี วอร์เรน อี. บัฟเฟ็ตต์ ซึ่งเคยประกาศไว้เมื่อต้นปีเดียวกันว่า ตนไม่เห็นด้วยที่บรรดาเศรษฐีมีเงินเช่นตนจะจ่ายภาษีเงินได้ในอัตราต่ำกว่าชนชั้นกลาง โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย
วอร์เรน อี. บัฟเฟ็ตต์ ประธานบริษัทด้านการลงทุน เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ เจ้าของฉายา พ่อมดการลงทุน
การที่เศรษฐีอเมริกันบางรายจ่ายภาษีน้อยกว่านั้น เนื่องจากกฎหมายสหรัฐฯ บัญญัติไว้ว่า รายได้จากการลงทุน เช่น กำไรส่วนเกินทุน (capital gains), เงินปันผล ตลอดจนกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (carried interest) ที่จ่ายให้กับผู้จัดการการลงทุนและหุ้นส่วนกองทุนป้องกันความเสี่ยงนั้น ไม่ถือเป็นเงินได้ทั่วไป ด้วยเหตุนี้จึงถูกหักภาษีน้อยกว่าเงินได้ทั่วไปที่เป็นค่าจ้างแรงงาน

นอกจากนี้ เศรษฐีอเมริกันยังจ่ายภาษีประเภทสวัสดิการสังคม โดยคิดคำนวณจากรายได้เพียง 106,800 ดอลลาร์แรกเท่านั้น

หากมาตรการนี้มีการบังคับใช้จริง จะทำให้ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีขึ้นไปต้องจ่ายภาษีในอัตราขั้นต่ำ 30%

บัฟเฟ็ตต์ ซึ่งออกมาช่วย คลินตัน หาเสียงเมื่อเดือนที่แล้ว เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายภาษีซึ่งเอื้อประโยชน์ให้บุคคลร่ำรวยสามารถจ่ายภาษีน้อยกว่าชนชั้นกลางที่ต้องหาเช้ากินค่ำ

แคมเปญหาเสียงของ คลินตัน ชี้ว่า เมื่อปี 2013 พลเมืองอเมริกันที่มีรายได้สูงสุด 400 คนแรกมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ทว่ากลับเสียภาษีเงินได้แค่ 23% ตามอัตราที่แท้จริง

ในสัปดาห์นี้คาดว่า คลินตัน จะนำเสนอนโยบายปฏิรูปอื่นๆ อีก รวมถึงแผนลดหย่อนภาษีให้แก่ครอบครัวชนชั้นกลาง

ก่อนหน้านี้ คลินตันได้เสนอแผนลดหนี้ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณราว 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเธอบอกว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะถูกชดเชยได้ด้วยการอุดช่องโหว่ทางภาษี

คลินตัน ยังให้คำมั่นว่าจะไม่เก็บภาษีเพิ่มจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่ถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี

ด้านมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นเต็งหนึ่งในสายรีพับลิกัน เสนอให้ลดอัตราภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 25% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 39.6% ในขณะที่ ส.ว.เท็ด ครูซ ซึ่งมีคะแนนไล่หลังมาเป็นอันดับ 2 รองจาก ทรัมป์ เสนอให้รัฐเก็บภาษีจากพลเมืองทุกคนในอัตรา 10% เท่ากันทั้งหมด

กำลังโหลดความคิดเห็น