xs
xsm
sm
md
lg

UNICEF เผยมีเด็กเกือบ 50 ล้านคนทั่วโลกต้องพลัดถิ่นฐานเพราะความขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพหนูน้อย อัยลัน กุรดี วัย 3 ขวบ ซึ่งศพถูกน้ำทะเลซัดมาเกยหาดตุรกี หลังเรือที่โดยสารมากับครอบครัวล่มกลางทะเล
เอเอฟพี - กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เผยมีเด็กๆ เกือบ 50 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องพลัดถิ่นฐานบ้านเกิด เนื่องจากภัยสงครามและความขัดแย้งในประเทศของตน

“ภาพของเด็กบางคน เช่น อัยลัน กุรดี ที่ถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาดหลังจากเรือผู้อพยพล่ม หรือใบหน้าที่เปรอะเปื้อนเลือดของ ออมรัน ดักนีช ที่ถูกพาขึ้นรถพยาบาลหลังจากที่บ้านของเขาถูกทำลาย สร้างความตกตะลึงให้แก่คนทั่วโลก” แอนโทนี เลค ผู้อำนวยการกองทุนฉุกเฉินสำหรับเด็กแห่งสหประชาชาติ ระบุในคำแถลงวันนี้ (7 ก.ย.)

“ทว่าเด็กแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ล้วนเป็นตัวแทนเด็กๆ ทั่วโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตราย และกระตุ้นให้เรามีเมตตาสงสารต่อเด็กทุกคนที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน”

จากการศึกษาข้อมูลทั่วโลก UNICEF พบว่ามีเด็กถึง 28 ล้านคนที่ต้องละทิ้งบ้านเรือนเพื่อหนีความรุนแรงและความขัดแย้ง ในจำนวนนี้เป็นผู้ลี้ภัยเด็กราว 10 ล้านคน

เยาวชนราว 1 ล้านคนยังรอการขอสถานะผู้ลี้ภัย และอีก 17 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นฐานภายในประเทศ โดยไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหรือบริการฉุกเฉิน

เด็กอีก 20 ล้านคนจำเป็นต้องทิ้งบ้านด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น ถูกแก๊งอันธพาลรังควาน หรือหนีความยากจน เป็นต้น

“เด็กๆ ส่วนใหญ่เสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดหรือกักกัน เนื่องจากพวกเขาเป็นบุคคลไร้ทะเบียน ไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน และยังไม่มีระบบใดๆ ที่จะติดตามสวัสดิภาพของพวกเขา เด็กเหล่านี้คือประชากรที่ตกเป็นเหยื่อช่องโหว่ทางกฎหมาย” UNICEF แถลง

หน่วยงานเพื่อเด็กของยูเอ็นยังพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่เดินทางข้ามพรมแดนด้วยตนเอง โดยในปีที่แล้วมีผู้เยาว์กว่า 100,000 คนที่ปราศจากผู้ปกครองดูแลยื่นขอลี้ภัยใน 78 ประเทศ เพิ่มจากสถิติปี 2014 ถึง 3 เท่าตัว

UNICEF ยังชี้ให้เห็นถึง “ความไม่สมดุลมากขึ้นเรื่อยๆ” ในแง่สัดส่วนผู้ลี้ภัย เนื่องจากเด็กคิดเป็นประชากรเพียง 1 ใน 3 ของโลก ทว่ามีจำนวนถึง “ครึ่งหนึ่ง” จากบรรดาผู้ลี้ภัยทั้งหมด

ในปี 2015 ผู้ลี้ภัยเด็กราว 45% ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเป็นเด็กจากซีเรีย และอัฟกานิสถาน

UNICEF เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหยุดกักขังเด็กที่ต้องการอพยพหรือขอสถานะผู้ลี้ภัย, ไม่แยกคนในครอบครัวออกจากกัน และอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเด็กสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ตลอดจนส่งเสริมนโยบายยุติความเกลียดชังทางเชื้อชาติ การแบ่งแยกกีดกัน และกระบวนการทำให้เป็นคนชายขอบ (marginalization)

กำลังโหลดความคิดเห็น