เอเอฟพี - เจ้าของเครือข่ายภัตตาคารซูชิชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งจ่ายเงินกว่า 14 ล้านเยน (4.2 ล้านบาท) ในวันนี้ (5) เพื่อซื้อปลาทูน่าครีบน้ำเงินไซส์ใหญ่ยักษ์ตัวหนึ่ง ในขณะที่ตลาดปลาสึคิจิของโตเกียวจัดการประมูลช่วงปีใหม่ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะถูกย้ายไปยังสถานที่ใหม่
การประมูลดังกล่าวสิ้นสุดลงที่จำนวนเงิน 14 ล้านเยนสำหรับปลาทูน่าหนัก 200 กิโลกรัมตัวดังกล่าวที่เป็นสายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยมันถูกจับได้นอกชายฝั่งทางเหนือของญี่ปุ่น
ราคาประมูลดังกล่าวสูงกว่าปีที่แล้วถึง 3 เท่าแต่ยังต่ำกว่ามากนักเมื่อเทียบกับราคาประมูลครั้งประวัติการณ์ 155.4 ล้านเยน (ราว 34.8 ล้านบาท) ที่จ่ายโดยเครือข่ายภัตตาคารซูชิแห่งนี้ในปี 2013 สำหรับปลาทูน่าคุณภาพเดียวกันที่ตัวใหญ่กว่าเล็กน้อย
การประมูลช่วงปีใหม่นี้เป็นจุดเด่นดั้งเดิมที่ตลาดสึคิจิ ซึ่งเหล่าผู้ประมูลจะใช้เงินกันอย่างเกินเหตุเพื่อเกียรติยศในการได้ซื้อปลาตัวแรกของปี
อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ญี่ปุ่น ผู้บริโภคปลาทูน่าครีบน้ำเงินรายใหญ่ที่สุดของโลกกำลังเผชิญกับเสียงเรียกร้องมากขึ้นให้ห้ามการซื้อขายปลาสายพันธุ์นี้ ซึ่งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเตือนว่ากำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
จำนวนปลาทูน่าครีบน้ำเงินแถบแปซิฟิกเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง “แม้ว่ารัฐบาลจะรับรองว่ามาตรการควบคุมที่มีอยู่ถูกบังคับใช้อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม” อาแมนดา นิคสัน ผู้อำนวยการกลุ่ม Global Tuna Conservation ที่มูลนิธิ Pew Charitable Trusts กล่าวในข้อมูลแจกสื่อ
ปกติแล้วปลาทูน่าครีบน้ำเงินจะเป็นปลาราคาแพงที่สุดที่วางขายที่ตลาดสึคิจิ ตลาดขายส่งปลาและอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก
“โอโทโร่” หรือส่วนท้องน้อยซึ่งเต็มไปด้วยไขมันของปลาชนิดนี้เพียงหนึ่งชิ้นอาจมีมูลค่าสูงถึงหลายพันเยนตามภัตตาคารหรูของกรุงโตเกียว
ผู้ชนะการประมูลในวันนี้ (4) คือ คิโยชิ คิมูระ ประธานของบริษัทที่อยู่เบื้องหลังเครือข่ายภัตตาคารซูชิชื่อดัง ซูชิ-ซันไม ระบุว่า เขา “รู้สึกดีใจที่ชนะการประมูลในการประมูลช่วงปีใหม่ครั้งสุดท้ายที่ตลาดสึคิจิ”
คิมูระชนะการประมูลในทุกๆ ปีนับตั้งแต่ปี 2012 ตลาดสึคิจิจะปิดฉากประวัติศาสตร์นาน 80 ปีของมันลงเมื่อมันถูกย้ายไปยังอาคารทันสมัยแห่งหนึ่งในเมืองโตโยสุ ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร