เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานพิเศษถึง ความเป็นทาสในยุคใหม่ที่ยังคงเกิดขึ้นอุตสาหกรรมจับสัตว์น้ำไทยถึงแม้ก่อนหน้านี้จะถูกเตือน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ยังคงพบว่า แรงงานเถื่อนถูกใช้ทำงานบนเรือหาปลาในน่านน้ำไทยอย่างต่อเนื่อง ที่เกิดมาจากกลไกการลักลอบค้ามนุษย์ รายงานล่าสุดของยูเอ็นยังชี้ ไทยล้มเหลวในการปกป้องแรงงานทาสเหล่านี้ ปล่อยให้ถูกสังหาร หรือหิวจนตาย
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานพิเศษวันนี้(30 มี.ค)ถึง รายงานออกมาล่าสุดในวันที่ 28 มี.ค จำนวน 18 หน้าขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดของยูเอ็น ชี้รัฐบาลไทยล้มเหลวต่อการปกป้อง ผู้ตกเป็นเหยื่อแรงงานทาสในอุตสาหกรรมการประมงของไทย ถึงแม้ว่า จะได้รับการเตือนมาก่อนหน้านี้
ซึ่งในรายงานของ ILO “Sixth Supplementary Report: Report of
the Committee set up to examine the
representation alleging non-observance
by Thailand of the Forced Labour
Convention, 1930 (No. 29), made under
article 24 of the ILO Constitution by the
International Trade Union Confederation
(ITUC) and the International Transport
Workers’ Federation (ITF)” ที่ว่าด้วยการตรวจสอบข้อกล่าวหาในการละเมิดของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับปี 1930 (หมายเลข 29) ภายใต้มาตรา 24 ของสถาบัน ILO นั้นถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามข้อร้องเรียนของสมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ ITUC และสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ ITF MGRออนไลน์พบ
โดยในส่วนของการระบุของ ITUC และ ITF ได้อ้างถึงปัญหาในส่วนของไทยที่ถูกแบ่งออกเป็น 6 หัวข้อด้วยกันในรายงานสรุปของคณะกรรมการชุดพิเศษ ILO เช่น (1) ความอ่อนแอในการออกกฎหมายและกรอบข้อบังคับ (2) ธรรมเนียมการปฎิบัติการบังคับและการฉ้อฉล (3) ธรรมเนียมการปฎิบัติการจ้างงาน และสภาวะการทำงานและการมีชีวิตของแรงงาน (4) การขาดกลไกอย่างมีประสิทธิภาพของการร้องเรียน (5) การไร้ประสิทธิภาพของกลไกการบังคับใช้กฎหมาย (6) ไม่มีระบบการลงโทษ
เดอะการ์เดียนชี้ว่า โดยในการประเมินที่สำคัญและไม่ปกติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ พบว่า ILO ได้เรียกร้องไทย ให้แก้ปัญหาการใช้แรงงานทาสบนเรือประมงไทยที่ถูกบังคับทำงานในน่านน้ำไทย ซึ่งสื่ออังกฤษกล่าวว่า ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศของยูเอ็นได้ติดตามหลังจากได้รับหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการจากหน่วยงาน สมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ ITUC (International Trade Unions Conference) หน่วยงานเรียกร้องสิทธิของผู้ใช้แรงงาน ในปีที่ผ่านมา ***ได้แสดงหลักฐานอย่างชัดเจนว่า แรงงานต่างด้าวถูกใช้งานตลอด 20 ช.ม ต่อวัน รวมไปถึง ถูกทำร้ายร่างกาย และไม่ได้รับเงินค่าจ้าง***
เดอะการ์เดียนรายงานว่า เหล่านักเคลื่อนไหวต่างออกมาแสดงความยินดีต่อการตัดสินของยูเอ็นในครั้งนี้ จากการที่ยังคงมีหลักฐานออกมาว่า “ไทยมีความก้าวหน้าน้อยมากในการแก้ปัญหาแรงงานทาส” ถูกแม้ว่าจะถูกกดดันอย่างหนักและต่อเนื่องจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ
โดยหลักฐานเด็ดที่ถูกส่งออกมาจากสมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ ITUC และสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ ITF(International. Transport Workers Federation **แต่ในสื่อเดอะการ์เดียนใช้ว่า “International Transport Federation (ITF)”**) ได้แจกแจงให้เห็นภาพของกระบวนการทำร้ายและทารุณกรรมแรงงานทาสอย่างไรบนเรือประมงไทย หลังจากที่ทางองค์กร ITF ได้มีการสัมภาษณ์ทั้งคนไทยและเหยื่อแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งในปี 2015
ในตัวอย่างการสัมภาษณ์ สื่ออังกฤษชี้ว่า
#แรงงานเหล่านี้ต่างอ้างว่า พวกเขาถูกขังล็อกตายในห้อง และยังถูกบังคับให้ทำงานบนเรือประมงในน่านน้ำอินโดนีเซีย ที่บ่อยครั้งเป็นการลักลอบทำประมงเถื่อน ถึงแม้ว่าคนเหล่านี้ได้จ่ายค่าสมัครเข้างานจำนวนสูงแล้วก็ตาม
#และในอีกตัวอย่าง พบว่ามีแรงงานคนหนึ่งถูกเฆี่ยนตีอย่างโหดเหี้ยมด้วยฝีมือคนขับเรือประมงไทย และถูกล่ามโซ่บริเวณลำคอ ลงโทษข้อหาพยายามหลบหนี
#ยังพบอีกว่า ในอีกตัวอย่าง แรงงานต่างด้าวบนเรือประมงไทยยังกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาเป็นพยานในการสังหารลูกเรือของกัปตันเรือประมงไทย โดยมีรายหนึ่งอ้างว่า กัปตันเรือของเขายิงทิ้งลูกเรือต่างด้าวชาวกัมพูชาเสียชีวิต และได้สังหารลูกเรือชาวไทยอีก 4 คนด้วยการจับทิ้งลงทะเล
#และในการให้ข้อมูล ทางลูกเรือแรงงานต่างด้าวยังชี้ว่า คนเหล่านี้ต่างต้องตกเป็นหนี้ ต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และยังเป็นพยานความโหดเหี้ยมกัปตันเรือ ที่ได้ทำร้ายร่างกายลูกเรือคนอื่น ซึ่งแรงงานต่างด้าวได้บรรยายไปถึงการถูกบังคับ ให้ทำงาน 20 ช.มต่อวัน รวมไปถึง ได้รับอาหารขั้นจำกัด
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนกล่าวว่า กรณีตัวอย่างเหล่านี้ในคำร้องของสมาพันธ์สหภาพแรงงาน ที่ส่งเข้าไปยังยูเอ็น แสดงให้เห็นถึง ปัญหาความเป็นทาสในโลกยุคใหม่และการทารุณอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งถูกค้นพบในการสอบสวนก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการรายงานของเดอะการ์เดียนในปี 2014 และออกมาจากรายงานของฝั่งทางฝั่งรัฐบาลไทยเอง ที่ได้ยอมรับว่า มีการค้นพบไปถึงการทำทารุณบนเรือประมงไทยในเขตซายา เดอ มัลฮา แบงก์ (Saya de Malha Bank) มหาสมุทรอินเดียตะวันตก นอกฝั่งมาดากัสการ์
โดยในการค้นพบครั้งนั้นชี้ว่า พบว่าเกือบครึ่งของจำนวนลูกเรือราว 1,000 คนบนเรือประมงทั้งหมด 50 ลำ นั้นถูกบังคับให้ทำงาน ละเมิดกฎหมายแรงงานและกฎหมายการเข้าเมืองไทย
สื่ออังกฤษยังอ้างอิงต่อไปถึง รายงานของกลุ่มกรีนพีซ ที่ได้เคยสัมภาษณ์บรรดาลูกเรือประมงหาปลาทูนาแบบลากอวน ทำการประมงในพื้นที่เดียวกันกับที่ถูกกล่าวอ้างว่า กลุ่มลูกเรือนั้นถูกลอบค้ามนุษย์ และนำมาบังคับทำงาน โดยให้พักผ่อนแค่วันละ 4 ช.ม ในขณะที่มีบางส่วน ออกมาอ้างว่า พวกเขาถูกส่งให้ทำงานหาปลากลางทะเลนาน 5 ปีติด
เดอะการ์เดียนรายงานว่า อุตสาหกรรมการส่งออกอาหารทะเลไทย มูลค่า 6.5 พันล้านดอลลาร์ ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการออกมาแฉถึงพฤติกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิแรงงาน และการทำประมงผิดกฎหมายที่ไม่ได้รับอนุญาต
ซึ่งในปี 2014 ไทยถูกสหรัฐฯจัดลดอันดับในรายงานของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯว่าด้วยการลักลอบค้ามนุษย์ รายงานที่แสดงถึงจุดยืนของประเทศที่ถูกจัดลำดับเหล่านี้ต่อปัญหาการค้ามนุษย์ และในปี 2015 เดอะการ์เดียนยังชี้ว่า รัฐบาลไทยได้รับ “ใบเหลือง” จากสหภาพยุโรป ในคำเตือนให้เร่งแก้ปัญหา หรือเลือกที่จะต้องเผชิญหน้ากับการถูกแบนส่งออกเข้ายุโรป
ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ได้แก้ปัญหาด้วยการออกมาตรการปฎิรูปและกฎหมายบังคับใช้ต่อต้านลักลอบค้ามนุษย์ และแรงงานทาส แต่ทว่าเดอะการ์เดียนชี้ว่า ในรายงานของ ILO ยูเอ็น ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “ความพยายามของฝ่ายไทยยังไม่มากพอ” โดยทางหน่วยงานได้ชี้ไปถึงช่องว่างระหว่างกรอบของกฎหมายและการบังคับใช้ โดยเฉพาะในการกำกับบรรดานายหน้าที่เป็นผู้ว่าจ้างแรงงานเหล่านี้ การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่คอร์รัปชัน และวิธีการตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรมต่อเรือประมง
และพบว่า ผ่านทางสถานทูตไทยในกรุงลอนดอน รัฐบาลไทยอ้างว่า ทางไทยได้ร่วมมืออย่างเต็มที่ในการตรวจสอบขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO และที่ผ่านมาหน่วยงานของยูเอ็นหน่วยนี้ “ได้รับรู้ถึงความพยายามในส่วนของไทย” ในการกำจัดแรงงานทาสให้ออกไปจากระบบอุตสาหกรรมการประมงไทยและผลิตอาหารของไทย
และทางฝ่ายไทยยังอ้างต่อ ถึงความก้าวหน้าในประเด็นที่ถูกแนะนำโดย ILO นับตั้งแต่จดหมายร้องเรียนได้ยื่นส่งเข้ามา
ด้านจอห์นนี ฮานเซน( Johnny Hansen) ประธานของ ITF ภาคการประมง แสดงความยินดีต่อคำสั่งที่ออกมาของ ILO ผ่านแถลงการณ์ของเขาที่ได้ระบุว่า “ ทางเราได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลไทย” และกล่าวต่อว่า “แต่อย่างไรก็ตาม จากคำสั่งที่ออกมานี้ยังแสดงให้เห็นว่า ยังคงมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในการที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อปัญหาแรงงานต่างด้าวบนเรือประมงไทย ที่ตกเป็นเหยื่อการถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส การลักลอบค้ามนุษย์ การถูกละเมิดให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และการถูกทำร้ายร่างกาย”
ในขณะที่ สตีฟ เทรนต์(Steve Trent) จากสถาบันความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม(Environmental Justice Foundation) ได้ให้ความเห็นที่สอดคล้องกัน โดยชี้ว่า “รัฐบาลไทยได้ใช้ความพยายามอย่างไม่ถูกต้องในการแก้ปัญหาแรงงานทาส ถึงแม้ว่าจะปรากฎการลงโทษกลุ่มลักลอบค้ามนุษย์เป็นเวลา 14 ปีในเรือนจำในคดีท่าเรือกันตังล่าสุด”
เทรนต์ยืนยันว่า “ในขณะที่ได้มีการปฎิรูปเชิงระบบเกิดขึ้น แต่ทว่าทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการไม่สอดคล้อง และบังคับใช้กฎหมายแบบตามใจตัวเอง ทำให้การละเมิดยังคงเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องมาจากการคอร์รัปชัน หรือธุรกิจ และเรือประมงที่ฉ้อฉล”
ส่วนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่เพิ่งหนีออกมาจากไทย หลังจากที่ในขณะนี้ถูกกระบวนการยุติธรรมไทยสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับงานที่เขาทำอยู่ แอนดี ฮอล(Andy Hall) ได้กล่าวให้ความเห็นว่า “ไทยกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งไม่เฉพาะแต่บนเรือประมงหาปลา แต่ยังลามไปถึงฟาร์มสัตว์ปีก หรือสวนยางพารา ในอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ของการส่งออกสัตว์ปีกและอาหารทะเล รวมไปถึงโรงงานส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ ที่ส่งไปขายทั่วโลก และภาคอุตสาหกรรมส่งออกผลไม้และผัก”