xs
xsm
sm
md
lg

รง.แปรรูปอาหารรัฐโคโลราโดไล่พนักงานมุสลิมเกือบ 200 ชีวิตออก หลังปัญหา “พักทำละหมาด” ลามเข้าตัวโรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - โรงงานแปรรูปอาหารประเภทเนื้อสัตว์ คาร์กิล มีต โซลูชันส์ (Cargill Meat Solutions) ในเมืองฟอร์ต มอร์แกน รัฐโคโลราโด ได้ไล่พนักงานมุสลิมสัญชาติโซมาเลียจำนวนเกือบ 200 คนออกจากงาน หลังจากเกิดการสไตรก์ผละงานเนื่องจากความไม่พอใจที่ทางโรงงานไม่อนุญาตให้พนักงานพักเบรกชั่วคราวเพื่อทำละหมาดพร้อมกันทีเดียวถึง 11 คน

CBS รายงานล่าสุดว่า ปัญหาด้านศาสนาและการทำงานได้เข้าสู่โรงงานแปรรูปอาหารในสหรัฐฯ แล้ว เมื่อพบว่าการทำละหมาด 5 ครั้งต่อวันซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมยึดถือต้องส่งผลทำให้ไม่มีงานทำ หลังจากที่พนักงานมุสลิมในรัฐโคโลราโด 10 คนจากทั้งหมด 11 คนตัดสินใจลาออกด้วยการคืนบัตรผ่านเข้าโรงงานและหมวกนิรภัยให้กับหัวหน้าแผนกควบคุมหลังสิ้นสุดกะงานในวันนั้นเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำละหมาด

โดยสื่อสหรัฐฯ รายงานว่า คาร์กิล มีต โซลูชันส์ (Cargill Meat Solutions) โรงงานแปรรูปอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ได้ประกาศแถลงการณ์การเลิกจ้างของลูกจ้างชาวโซมาเลียจำนวน 200 คนผ่านโฆษกของบริษัท ไมเคิล มาร์ติน (Michael Martin) ว่า การประกอบกิจกรรมตามความเชื่อทางศาสนาเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติได้ แต่ทว่าทางโรงงานไม่สามารถอนุญาตให้พนักงานจำนวนมากถึง 11 คน พักงานพร้อมกันเพื่อทำละหมาดได้

“การที่ต้องหยุดพักการทำงานพร้อมกันจากหลายแผนกนั้น อาจทำให้เกิดการติดขัดขึ้นในสายการผลิตของโรงงานได้ ดังนั้น ซูเปอร์ไวเซอร์ของพนักงานจึงจำเป็นต้องคอยกำกับและดูแลพนักงาน โดยอนุญาตให้พนักงานเหล่านี้สามารถพักเพื่อการทำละหมาด แต่ทว่าพนักงานเหล่านี้ต้องออกไปพร้อมกันในคราวเดียวโดยมีจำนวนน้อยกว่า 11 คน” มาร์ตินกล่าวให้สัมภาษณ์กับ CBS และเสริมต่อว่า “และควรจะเป็นกลุ่มละ 3 คนต่อครั้งเท่านั้น”

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2015 แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 ธันวาคมซึ่งเป็นวันจันทร์ถัดไปพบว่าพนักงานร่วม 200 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพชาวโซมาเลียนับถือศาสนาอิสลามได้พร้อมใจผละงานถึง 3 วันเต็มเพื่อประท้วงหลังทราบข่าวการถูกห้ามการทำละหมาดของกลุ่มพนักงาน 11 คนนั้น แต่ทว่าทำให้บริษัท คาร์กิล มีต โซลูชันส์ ตัดสินใจไล่พนักงานทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผละงานออก

โดยมาร์ตินได้ชี้แจงถึงสาเหตุการเลิกจ้างว่า “มีความจำเป็นที่ทางบริษัทฯ ไม่สามารถยืดหยุ่นได้” และเสริมต่อว่า “แต่ทว่า ในตามปกติแล้วทางบริษัทจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานในโรงงานแห่งนี้”

การประกาศเลิกจ้างส่งผลให้ทางคาร์กิล มีต โซลูชันส์ ประกาศรับพนักงานเข้าทำงานใหม่ทั้งหมด ซึ่ง CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานโดยอ้างอิง KCNC สื่อท้องถิ่นว่า มีลูกจ้างบางส่วนที่ถูกประกาศเลิกจ้างได้ร้องขอสวัสดิการว่างงานจากรัฐบาลสหรัฐฯ

โดย CNN ชี้ว่า ถึงแม้พนักงานจำนวนหลายร้อยคนจะถูกให้ออกจากงาน แต่มีความเป็นไปได้ที่คนเหล่านั้นจะสามารถกลับมาสมัครใหม่ในตำแหน่งงานเดิมได้อีกครั้ง ซึ่งตามกระบวนการแล้วทางบริษัทฯ มีระยะเวลารอจำนวน 6 เดือน ก่อนที่จะเริ่มเปิดการรับสมัครคนใหม่เข้ามา แต่โฆษกบริษัท คาร์กิล มีต โซลูชันส์ แถลงยืนยันว่า “ช่วงเวลาการรอของบริษัทนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะสั้นลง”

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะถูกเลิกจ้าง แต่ดูเหมือนอดีตพนักงานคาร์กิล มีต โซลูชันส์จะยังคงยืนยันในสิทธิของการทำละหมาดของพวกเขา โดยหนึ่งในอดีตพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง โทนี เอเดน (Tony Aden) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่าน CBS ว่า “มันไม่สำคัญหากผมไม่มีงานทำ เพราะศาสนาอิสลามเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผม”

ในแถลงการณ์ร่วมระหว่างองค์กรอิสลามสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลามสัมพันธ์ หรือ The Council on American-Islamic Relations (CAIR)  ซึ่งเป็นตัวแทนอดีตพนักงานคาร์กิล มีต โซลูชันส์ จำนวน 150 คนที่ตกงานอยู่ในขณะนี้ได้กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากตัวผู้จัดการของโรงงานบริษัทใช้การกระทำและคำพูดแสดงการกีดกันทางเชื้อชาติและศาสนา

สื่อสหรัฐฯ CNN รายงานว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในเรื่องการหยุดพักเพื่อละหมาดจะยังไม่แน่ชัด แต่ทว่า เจย์ลานี ฮุสเซน (Jaylani Hussein) โฆษก และผู้อำนวยการบริหาร CAIR ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางร่วมประสานงานกับบริษัท คาร์กิล มีต โซลูชันส์ ในการหาทางออกเพื่อช่วยให้อดีตพนักงานมุสลิมที่ถูกเลิกจ้างสามารถกลับเข้าทำงานได้ ให้สัมภาษณ์ว่า “นโยบายของโรงงานที่อนุญาตให้พนักงานสามารถหยุดพักการทำงานในเวลาที่ต่างกันไปตลอดทั้งวันเพื่อการทำละหมาดนั้นเปลี่ยนไป และบรรดาพนักงานมุสลิมได้รับการบอกกล่าวว่า หากต้องการ “ทำละหมาด” ให้กลับบ้านไปเสีย”

และในการรายงานของ CBS ฮุสเซนกล่าวต่อว่า “ทางเรากำลังพยายามต้องการหาตัวหัวหน้าแผนกที่บอกให้พนักงานมุสลิมเหล่านั้นกลับบ้านหากพวกเขาต้องการทำละหมาด” และตัวแทน CAIR ชี้ต่อว่า “หากพนักงานเหล่านั้นถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานในการปฎิบัติตามความเชื่อทางศาสนาอย่างเหมาะสมในที่ทำงานแล้ว ดูเหมือนว่าคนเหล่านั้นได้สูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์”

แต่ทว่า มาร์ตินโฆษกบริษัท คาร์กิล มีต โซลูชันส์ปฏิเสธยืนยันว่า นโยบายการอนุญาตให้ทำละหมาดนั้นไม่เคยเปลี่ยน และตัวแทนบริษัทโรงงานแปรรูปเนื้อในรัฐโคโลราโดยังอธิบายเพิ่มเติมต่อว่า ในปัจจุบันนี้โรงงานมีห้องจำนวน 2 ห้องสำหรับพนักงานทั้งหมด 2,100 คนที่ใช้สำหรับการทำกิจกรรมทางศาสนา “แต่ว่าทางเรามีกำหนดอนุญาตให้พนักงานแต่ละกลุ่มที่จะมีจำนวนเท่าใดสามารถหยุดพักเพื่อออกไปทำกิจกรรมดังกล่าวโดยที่จะไม่กระทบต่อสายพานการผลิตของบริษัท” มาร์ตินแถลง ซึ่งพบว่าห้องสำหรับพนักงานเหล่านี้มีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 ที่โรงงานในเมืองฟอร์ต มอร์แกน รอยเตอร์รายงาน

ในแถลงการณ์เดียวกันนี้มาร์ตินยังกล่าวต่อว่า “ยังคงมีพนักงานมุสลิมจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 คนที่ยังคงทำงานต่อไปในโรงงานแห่งนี้”

ทั้งนี้ บริษัท คาร์กิล มีต โซลูชันส์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งในเมืองวิชิตา (Wichita) รัฐแคนซัส และบริษัทแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท คาร์กิล อิงก์ (Cargill Inc.) ซึ่งมีพนักงานทั้งหมด 155,000 คนใน 68 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข่าวการที่พนักงานชาวโซมาเลียปฎิเสธไม่กลับเข้าทำงานเพราะไม่พอใจที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำละหมาดพร้อมกันถึงครั้งละ 11 คนนั้น ได้สร้างเสียงวิพากษ์ให้กับชาวอเมริกันที่ได้แสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ฮับข่าวอินเตอร์เนต Yahoo ซึ่งสะท้อนถึงนโยบายคนเข้าเมืองสหรัฐฯ และปัญหาการจัดการความแตกต่างด้านศาสนาโดยเฉพาะศาสนาอิสลามในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 โดยเฉพาะของผู้สมัครแถวหน้าจากพรรครีพับลิกัน เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นอย่างดี

ในหลายความเห็นต้องการทราบว่าพนักงานทั้งหมดมีสัญชาติอเมริกันหรือไม่ เพราะในรายงานของบางสำนักข่าว ไม่ระบุถึงสถานะทางกฎหมายของพนักงานมุสลิมที่ถูกเลิกจ้างเหล่านี้ หรือเหตุใดทางรัฐบาลกลางสหรัฐฯจึงอนุญาตให้ผู้อพยพชาวโซมาเลียจำนวนมากถึง 150 คน รวมตัวอยู่ด้วยกัน และมีงานทำที่โรงงานแปรรูปอาหารเนื้อสัตว์ในรัฐโคโลราโดแห่งนี้ในขณะที่ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องการมีงานทำ

นอกจากนี้ยังมีบางส่วนเห็นด้วยกับการจัดการของคาร์กิล มีต โซลูชันส์ โดยอ้างว่า ให้เก็บความเชื่อทางศาสนาไว้ที่บ้าน และมีจำนวนหนึ่งได้กล่าวให้ความเห็นว่า “การมีงานทำไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ถือเป็นอภิสิทธิ์ชีวิต”


กำลังโหลดความคิดเห็น