เอพี/เอเจนซีส์ - แม้ข้อตกลงเยียวยา “หญิงบำเรอกาม” เกาหลีใต้ ทำให้นักการทูตในโตเกียวและโซลพากันโล่งอก แต่กลับเป็นที่ขัดเคืองใจบรรดานักเคลื่อนไหวชาตินิยมและเหยื่อวัยชรา ขณะที่ประชาชนทั่วไปและสื่อของสองประเทศไม่ได้ให้ความสนใจประเด็นนี้มากนัก ส่วนทางการจีนบอกจะรอดูว่า ญี่ปุ่นจะรักษาคำพูดหรือไม่ และไต้หวันเรียกร้องเจรจากับแดนอาทิตย์อุทัยเพื่อแก้ไขประเด็นค้างคานี้เช่นเดียวกัน
ข้อตกลงที่น่าประหลาดใจเมื่อวันจันทร์ (28 ธ.ค.) มาจากการยอมประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่มีใครได้ทุกอย่างที่ต้องการ
พวกนักชาตินิยมในญี่ปุ่นพากันโกรธเกรี้ยวการกล่าวขอโทษของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ขณะที่ชาวเกาหลีใต้บางส่วนโจมตีว่า ประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ยอมตกลงแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าที่เล็กน้อยเกินไปคือ ประมาณ 8 ล้านดอลลาร์ มิหนำซ้ำญี่ปุ่นยังไม่ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายต่อความโหดร้ายป่าเถื่อนระหว่างการยึดครองคาบสมุทรเกาหลีปี 1910-1945
กระนั้น ข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายระบุว่า เป็นข้อตกลงสุดท้ายและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากดำเนินการอย่างเคร่งครัดนี้ ยังคงถือได้ว่าได้รับการยอมรับเป็นส่วนใหญ่ หลังจากที่ประเด็นนี้บ่อนทำลายความสัมพันธ์ของสองชาติมหาอำนาจประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมานับสิบปี
นักประวัติศาสตร์ระบุว่า ผู้หญิงหลายแสนคนจากทั่วเอเชีย ซึ่งมีหญิงสาวเกาหลีจำนวนมากนั้น ถูกส่งไปยังซ่องในแนวหน้าเพื่อบำบัดความใคร่ทหารญี่ปุ่น และถึงตอนนี้มีเหยื่อที่ยังมีชีวิตในเกาหลีใต้เหลืออยู่เพียง 46 คน ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 80 ตอนปลายหรือต้น 90 ด้วยเวลาที่งวดลงของบุคคลเหล่านี้ และความไม่พอใจที่ทบทวีขึ้นเรื่อยๆ หลายคนจึงมองว่า ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่ดีที่สุดที่พึงจะได้จากรัฐบาลสายเหยี่ยวของอาเบะ
ชาง ซู นักวิเคราะห์ของเซจอง อินสติติวต์ กลุ่มคลังสมองในเกาหลีใต้มองว่า ข้อตกลงนี้เป็นความคืบหน้าสำคัญ เนื่องจากถ้าหากโสมขาวเอาแต่ยืนกรานให้ญี่ปุ่นรับผิดชอบทางกฎหมายให้ได้ ก็จะไม่ต่างอะไรจากการบอกว่าเกาหลีใต้ไม่ต้องการแก้ไขประเด็นหญิงบำเรอกามนี้
นอกจากนั้น ยังเป็นที่รับรู้กันว่า วอชิงตันกดดันให้สองฝ่ายบรรลุข้อตกลงนี้ เนื่องจากทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ล้วนเป็นพันธมิตรสำคัญในการคานอิทธิพลของจีนในเอเชีย รวมทั้งการรับมือโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
สำหรับประชาชนทั่วไปในทั้งสองประเทศมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้น้อยมาก เช่น มีการชุมนุมต่อต้านญี่ปุ่นโหรงเหรงในโซล ส่วนที่โตเกียวก็มีนักเคลื่อนไหวปีกขวาไม่กี่ร้อยคนรวมตัวกัน ขณะที่สื่อของทั้งสองประเทศให้ความสนใจข่าวอื่นๆ มากกว่า
ทั้งนี้ ในข้อตกลงเมื่อวันจันทร์ อาเบะกล่าวขออภัยอย่างจริงใจต่อหญิงบำเรอกาม และญี่ปุ่นตกลงสนับสนุนเงิน 1,000 ล้านเยน (8.3 ล้านดอลลาร์) เพื่อก่อตั้งกองทุนช่วยเหลือเหยื่อที่ยังมีชีวิตอยู่
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นไม่คิดว่า เงินดังกล่าวเป็นค่าชดเชย โดยยืนกรานว่า ประเด็นนี้ได้รับการสะสางแล้วในสนธิสัญญาปี 1965 ที่มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และโตเกียวให้เงินช่วยเหลือหรือเงินกู้แก่โซลมากกว่า 800 ล้านดอลลาร์
สำหรับโซลนั้นตกลงที่จะไม่วิจารณ์ญี่ปุ่นในประเด็นหญิงบำเรอกามอีกต่อไป และจะพยายามคลายความตะขิดตะขวงของญี่ปุ่นด้วยการย้ายที่ตั้งอนุสาวรีย์หญิงบำเรอกามที่ปัจจุบันตั้งตระหง่านอยู่หน้าสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในโซล
เมื่อวันอังคาร (29) ที่บ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในโซลที่มีอดีตหญิงบำเรอกามบางคนอาศัยอยู่ ลิม ซุงนัม รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศเกาหลีใต้ได้เดินทางไปเยี่ยมเพื่อขอการสนับสนุนสำหรับข้อตกลงที่ทำกับญี่ปุ่นเมื่อวันจันทร์ แต่ปรากฏว่าเขาถูกเหยื่อวัยชราเหล่านี้ตำหนิอย่างรุนแรงขณะพยายามขอโทษที่ไม่ได้แจ้งเรื่องการเจรจากับโตเกียวให้ทราบล่วงหน้า
คิม บ็อกดอง เหยื่อวัย 88 ปี ระบายว่า อาเบะควรยอมรับว่า สิ่งที่ญี่ปุ่นทำกับพวกเธอนั้นผิดกฎหมาย และกล่าวขอขมาต่อหน้าผู้สื่อข่าว
เช่นเดียวกับกลุ่มพลเรือน 6 กลุ่ม ก็ออกมาประณามข้อตกลงคราวนี้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยื่อ และไม่เห็นด้วยที่โซลรับปากไม่วิจารณ์โตเกียวในประเด็นนี้ในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสหประชาชาติ
ทางด้านอดีตหญิงบำเรอกามคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ (28) บอกว่า จำใจยอมรับข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากรู้ว่ารัฐบาลพยายามอย่างมากในการแก้ไขประเด็นนี้
ในอีกด้านหนึ่ง จีนได้แสดงปฏิกิริยาเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ หลู่ กัง แถลงเมื่อวันอังคาร (29) ว่า ลัทธิทหารและความก้าวร้าวรุกรานของญี่ปุ่นในอดีตสร้างความทุกข์ทรมานใหญ่หลวงต่อจีนและประเทศเอเชียอื่นๆ และจีนยืนกรานเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเผชิญหน้ากับความก้าวร้าวรุกรานในอดีตอย่างมีความรับผิดชอบ เรียนรู้บทเรียน และดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อฟื้นความไว้วางใจของเพื่อนบ้านและนานาชาติ
หลู่สำทับว่า จะจับตาว่า โตเกียวยึดมั่นกับข้อตกลงล่าสุดที่ให้ไว้กับโซลตั้งแต่ต้นจนจบหรือไม่
ส่วนที่ไต้หวัน ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว เรียกร้องให้ญี่ปุ่น ที่เข้ายึดเกาะไต้หวันตั้งแต่ปี 1895-1945 ขอโทษ จ่ายเงินชดเชย รวมทั้งคืนความยุติธรรมและศักดิ์ศรีให้หญิงบำเรอกามไต้หวัน
นอกจากนั้น เดวิด หลิน รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน ยังเรียกร้องเปิดเจรจาเพิ่มเติมกับญี่ปุ่นในประเด็นนี้