รอยเตอร์ – รัฐบาลกินีประกาศเป็นประเทศ “ปลอดเชื้ออีโบลา” อย่างเป็นทางการในวันนี้ (29 ธ.ค.) หลังไวรัสมรณะได้คร่าชีวิตผู้คนในประเทศเล็กๆ แถบแอฟริกาตะวันตกไปกว่า 2,500 คน ทำให้ขณะนี้เหลือ “ไลบีเรีย” เพียงชาติเดียวที่ยังรอนับถอยหลังสิ้นสุดการระบาด
ประชาชนในกรุงโกนากรีต่างมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไป หลังทราบคำประกาศจากรัฐบาลและองค์การอนามัยโลก (WHO) บ้างก็แสดงความดีใจ ในขณะที่บางคนยังโศกเศร้ากับการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว รวมถึงความเสียหายที่เกิดกับระบบเศรษฐกิจ สาธารณสุข และภาคการศึกษา
“คนที่บ้านดิฉันตายไปหลายคน เหตุการณ์นี้ทำให้รู้ว่า พวกเราต้องต่อสู้มากแค่ไหนเพื่อคนที่ยังมีชีวิตรอด” แฟนตา อูเลน คามารา ซึ่งทำงานกับองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ในเบลเยียม ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
“พออาการของฉันเริ่มดีขึ้น สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้ผู้คนเลิกหวาดกลัวและต้อนรับฉันเหมือนเก่า คนส่วนใหญ่ที่เคยดีกับฉันกลับทอดทิ้งฉัน แม้แต่โรงเรียนที่ฉันเคยเป็นครูสอนก็ไล่ฉันออก ตอนนั้นลำบากมาก” คามารา วัย 26 ปี ซึ่งเคยติดเชื้ออีโบลาเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2014 กล่าว
เรเน มิกลิอานี เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานต่อต้านเชื้ออีโบลาแห่งกินี เผยว่า การระบาดของไวรัสอีโบลาทำให้เด็กกินีราว 6,200 คนต้องกำพร้าพ่อแม่
ข้อมูลสถิติจาก WHO ระบุยอดผู้ติดเชื้ออีโบลาในกินีกว่า 3,800 ราย จากทั้งหมด 28,600 รายทั่วโลก ในจำนวนนี้เสียชีวิตไป 11,300 ราย
ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นประชากรในกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน
ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถประกาศให้การแพร่ระบาดของอีโบลาสิ้นสุดได้ หากไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ต่อเนื่องเป็นเวลา 42 วัน หรือ 2 เท่าของระยะฟักตัวสูงสุดของเชื้อ 21 วัน
ไลบีเรียต้องสูญเสียประชากรไปกว่า 4,800 คนจากการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไข้เลือดออกอีโบลา แต่หากไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ก็จะสามารถประกาศปลอดอีโบลาอย่างเป็นทางการได้ในเดือน ม.ค. ปี 2016
เซียร์ราลีโอนเพิ่งประกาศสิ้นสุดการระบาดของเชื้ออีโบลาไปเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา