รอยเตอร์ - สื่อนอกรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (24 ธ.ค.) คำพิพากษาศาลไทยที่สั่งประหารชีวิต 2 แรงงานพม่า หลังตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่าในปี 2014 เรียกเสียงเย้ยหยันบนสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงแดนหม่อง ประกาศจะดำเนินการทุกช่องทางเพื่อช่วยให้ผู้บริสุทธิ์ทั้งสองได้รับอิสรภาพ
ศพในสภาพถูกทุบตีทำร้ายอย่างทารุณของนางสางฮันนาห์ วิเทอริดจ์ และนายเดวิด มิลเลอร์ ถูกพบบนชายหาดเกาะเต่าเมื่อเดือนกันยายน 2014 ด้วยตำรวจบอกว่านางสาววิเทอริดจ์ วัย 23 ปี ถูกข่มขืนแล้วฆ่า ส่วนนายมิลเลอร์ วัย 24 ปี ถูกตีบริเวณศีรษะจนเสียชีวิต
รอยเตอร์รายงานว่า หลังถูกกดดันให้คลี่คลายคดี ตำรวจได้จับกุมแรงงานชาวพม่า 2 คน ได้แก่นายซอ ลินกับนายวิน ซอตัน โดยบอกว่าทั้งสองยอมรับว่าเป็นผู้ลงมือก่ออาชญากรรม อย่างไรก็ตามต่อมาทั้งสองคนได้กลับคำรับสารภาพด้วยอ้างว่าถูกข่มขู่
คดีฆาตกรรมอันโหดเหี้ยมนี้ทำลายภาพลักษณ์ดินแดนสวรรค์แห่งการท่องเที่ยวของไทยและกระพือคำถามอย่างจริงจังต่อแนวทางปฏิบัติของพวกเขาต่อแรงงานต่างด้าว
คำพิพากษาบนเกาะสมุยที่อยู่ใกล้กับเกาะเต่า มีขึ้นตามหลังการสืบสวนที่กระพือคำครหาเกี่ยวกับความสามารถของตำรวจ การจัดการกับหลักฐานและการตรวจดีเอ็นเอที่บกพร่อง เช่นเดียวกับการทรมานผู้ต้องสงสัย
รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า คำพิพากษาในวันพฤหัสบดี (24ธ.ค.) ยังกระตุ้นความโกรธเคืองในพม่า จนต้องส่งตำรวจหลายสิบนายเข้าอารักขาสถานทูตไทยในย่างกุ้ง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจัดการประท้วงบนสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้พบเห็นประชาชนราว 10 คนยืนอยู่ด้านนอกอาคารและชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขา
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวพม่านามว่า Myo Phont ให้คำจำกัดความผลคำพิพากษาว่า “เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ โถ เด็กน้อย อยู่ผิดที่ผิดเวลา คนพม่าเป็นแพะรับบาปเป็นเรื่องปกติ” ส่วนคนอีกนามว่า Thiri โพสต์ว่า “นี่เรื่องจริงหรือเปล่า นี่มันอะไรกัน ดีเอ็นเอก็ไม่ตรงแล้วยังตัดสินประหารชีวิตอีก”
รอยเตอร์ระบุว่า เป็นธรรมเนียมของไทยที่การพิจารณาคดีจะไม่มีคณะลูกขุน ขณะที่ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนี้บอกวาผลตรวจดีเอ็นเอดำเนินการตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับ และตัวอย่างต่างๆที่พบบนตัวของนางสาววิเทอริดจ์ตรงกับจำเลยทั้งสอง พร้อมระบุด้วยว่าคำอ้างว่าถูกตำรวจทรมานนั้นไม่มีน้ำหนัก
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับตัวอย่างดีเอ็นเอที่ตำรวจเชื่อมโยง 2 ผู้ต้องสงสัยกับนางสาววิเทอริดจ์ คือแก่นกลางของการพิจารณาคดี ด้วยทางทนายจำเลยร้องขอให้ตรวจตัวอย่างดีเอ็นเอใหม่ ส่วนเจ้าหน้าที่เคยออกคำแถลงที่ขัดแย้งกันต่อหลักฐานดังกล่าว โดยมีช่วงหนึ่งเคยบอกว่าดีเอ็นเอนั้นหายไปแล้ว และไม่มีการตรวจสอบอย่างอิสระใหม่แต่อย่างใด
ครอบครัวของมิลเลอร์เข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาด้วยและไมเคิล พี่ชายของเขามอบถ้อยแถลงแก่ผู้สื่อข่าว โดยระบุว่าได้รับความยุติธรรมแล้ว พร้อมระบุว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่แสดงท่าทีสำนึกผิดใดๆเลย
อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่ง Zaw Htay เจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำทำเนียบประธานาธิบดีพม่า บอกว่าพม่าจะสำรวจทุกช่องทางทั้งด้านกฎหมายและด้านการทูต พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ชายผู้บริสุทธิ์ทั้งสองได้รับการปล่อยตัว
ระหว่างการทำคดีนี้ ตำรวจไทยถูกกล่าวหาอย่างกว้างขวางต่อการสืบสวนที่ไม่เหมาะสมหลายอย่าง ในนั้นรวมถึงล้มเหลวในการปิดเกาะอย่างรวดเร็วและปล่อยให้คนที่อาจเป็นผู้ต้องสงสัยหลบหนีไป