เอเอฟพี/อาร์ทีนิวส์ - กองทัพอากาศฝรั่งเศสใช้ขีปนาวุธร่อนโจมตีเป้าหมายพวกรัฐอิสลามิสต์ (ไอเอส) ในอิรักเป็นครั้งแรกเมื่อวันอังคาร (15 ธ.ค.) ขณะที่ความพยายามคลี่คลายความเห็นต่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรียระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ มีผลลัพธ์ออกมาในทางบวก ด้วยสองฝ่ายเห็นพ้องในประเด็นสำคัญๆ สำหรับร่วมกันสร้างความคืบหน้าในการหาทางยุติสงครามอันยืดเยื้อนี้
“ออกบินจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และจอร์แดน การจู่โจมตีครั้งนี้ดำเนินการโดยเครื่องบินขับไล่ติดตั้งขีปนาวุธร่อนและระเบิดกว่าสิบลำ” กระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสระบุในถ้อยแถลง พร้อมระบุว่า “เครื่องบินขับไล่ถล่มเป้าหมายอาคารต่างๆ ในพื้นที่อัล-กาอิม ทางตะวันตกของอิรัก ย่านที่อยู่อาศัยซึ่งถูกดัดแปลงเป็นศูนย์ฝึกหัดและคลังส่งกำลังบำรุง”
ขีปนาวุธร่อน Scalp นำร่องด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งในตัว สามารถโจมตีเป้าหมายในพิสัยที่ไกลกว่าและแม่นยำกว่าระเบิดปกติทั่วไป ซึ่งกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสบอกว่ามันมีประโยชน์สำหรับในพื้นที่พลเรือนโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ ขีปนาวุธดังกล่าวเคยถูกใช้ครั้งแรกในปฏิบัติการโจมตีในลิเบียเมื่อปี 2011 และมีต้นทุนลูกละ 850,000 ยูโร
ฝรั่งเศสเข้าร่วมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ โจมตีทางอากาศในอิรักมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2014 ก่อนขยายปฏิบัติการสู่ซีเรียในอีก 12 เดือนต่อมา
ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์แห่งฝรั่งเศส ประกาศว่าประเทศของเขาอยู่ในศึกสงครามกับพวกไอเอส ซึ่งยึดครองพื้นที่ 1 ใน 3 ของอิรักและราวครึ่งหนึ่งของซีเรีย หลังจากนักรบกลุ่มนี้ลงมือโจมตีปารีสเมื่อเดือนก่อน เข่นฆ่าชีวิตผู้คน 130 ศพ
จากนั้นฝรั่งเศสได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าประจำการในภูมิภาค เพิ่มจำนวนเครื่องบินรบร่วมปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มไอเอสอีก 3 เท่า แต่ปฏิบัติการต่างๆ ยังคงเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากปราศจากเป้าหมายที่ชัดเจนและข้อมูลข่าวกรองทางภาคพื้น
การมีส่วนร่วมมากขึ้นของฝรั่งเศ เกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามคลี่คลายความเห็นต่างระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย สำหรับหาทางยุติสงครามอันยืดเยื้อในซีเรีย ด้วยนายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯและนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยหลังการหารือในกรุงมอสโกเมื่อวันอังคาร (15 ธ.ค.) ว่าทั้งสองประเทศมีความเห็นพ้องต้องกันในประเด็นสำคัญหลายๆเรื่อง
รัสเซียและสหรัฐฯ ต่างสนับสนุนความพยายามนานาชาติในการเป็นคนกลางหาข้อตกลงหยุดยิงและจัดเจรจาทางการเมืองระหว่างรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดกับพวกฝ่ายค้านติดอาวุธซีเรีย ทว่าทั้งสองชาติมีจุดยืนที่แตกต่างกันเกี่ยวกับชะตากรรมของนายอัสซาดและยุทธศาสตร์ในการสู้รบกับพวกรัฐอิสลาม ซึ่งเป็นตัวขัดขวางความคืบหน้ามาตลอด
สหรัฐฯ และพันธมิตรย้ำมาตลอดว่านายอัสซาดต้องลงจากอำนาจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่รัสเซีย ซึ่งปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในซีเรียเช่นกันและถูกกล่าวหาว่ามีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนกองกำลังรัฐบาล ระบุว่าประชาชนชาวซีเรียควรเป็นผู้ตัดสินชะตากรรมทางการเมืองของนายอัสซาด ไม่ใช่อำนาจจากภายนอก
“สหรัฐฯ พร้อมร่วมมือกับมอสโก” เคร์รี บอกกับผู้สื่อข่าวตามหลังพบปะหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินและนายลาฟรอฟเมื่อวันอังคาร (15 ธ.ค.) พร้อมระบุว่าเจ้าหน้าที่จากสองประเทศมีวันที่ก่อประโยชน์และการพูดคุยเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้แล้วนายเคร์รียังเรียกความพยายามคราวนี้ว่า “เป็นการทูตที่ดี” และประชาคมโลกจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือเช่นนี้
ส่วนนายลาฟรอฟบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ทั้งมอสโกและวอชิงตันต่างยืนยันข้อตกลงต่างๆ ก่อนหน้านี้ในการร่วมมือกันต่อสู้กับปีศาจไอเอสในซีเรีย พร้อมระบุว่าที่ประชุมครั้งนี้ได้เห็นพ้องถึงแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่จะช่วยให้ความพยายามดังกล่าวมีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น
“เรามองรากเหง้าของซีเรียเหมือนกันอย่างมาก” เคร์รีกล่าว พร้อมระบุว่าสองประเทศมีความเห็นต่างอย่างจริงใจ แต่ก็เห็นพ้องโดยทั่วไปว่าวิกฤตในซีเรียจำเป็นต้องพึ่งกระบวนการทางการเมือง “รัสเซียและสหรัฐฯ เห็นพ้องกันว่าคุณไม่สามารถเอาชนะพวกก่อการร้ายไอเอสได้โดยปราศจากการควบคุมสู้รบในซีเรียไม่ให้ลุกลามบานปลาย ทั้งมอสโกและวอชิงตันต่างพุ่งเป้าไปที่กระบวนการทางการเมืองและชาวซีเรียจะเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตของซีเรีย”
เคร์รีบอกด้วยว่า มอสโกและวอชิงตันยังมีความเห็นร่วมกันว่ากลุ่มต่างๆที่ต่อต้านนายอัสซาดควรมีส่วนร่วมในโต๊ะเจรจาสันติภาพซีเรีย ขณะที่นายลาฟรอฟ ยืนยันว่าการประชุมของเหล่าชาติมหาอำนาจในประเด็นวิกฤตเซียที่นิวยอร์ก ซึ่งกำหนดไว้ในวันศุกร์นี้ (18 ธ.ค.) จะเดินหน้าตามแผนเดิม