xs
xsm
sm
md
lg

โอบามาเร่งพันธมิตรเพิ่มกำลังขยี้ IS ซาอุฯ ตั้งแนวร่วมทหาร 34 ประเทศมุสลิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แถลงที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เมื่อวันจันทร์ (14 ธ.ค.)
เอเจนซีส์ - “โอบามา” เรียกร้องพันธมิตรเพิ่มการสนับสนุนทางทหารเพื่อบดขยี้ไอเอสในอิรักและซีเรีย ส่งรัฐมนตรีกลาโหมเดินสายระดมความร่วมมือในตะวันออกกลาง ด้านซาอุดีอาระเบียก็สอดประสาน ประกาศตั้งแนวร่วมทางทหารของกว่า 30 ชาติที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จาก 3 ภูมิภาค เพื่อกวาดล้างขบวนการก่อการร้าย

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แถลงที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) เมื่อวันจันทร์ (14 ธ.ค.) ว่า ได้ส่งแอช คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหม ไปยังตะวันออกกลางเพื่อระดมความช่วยเหลือทางทหารจากพันธมิตรในการต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)

ผู้นำสหรัฐฯ ยอมรับว่า การสู้รบปราบปรามไอเอสเป็นการต่อสู้ที่ยากลำบาก จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้นเขาก็ยกตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างอเมริกากับพันธมิตร เช่น การยึดพื้นที่กว้างขวางในอิรักและซีเรียคืนจากไอเอส การไล่ล่าผู้นำกลุ่มก่อการร้ายเป็นรายตัว และการโจมตีรถขนน้ำมัน บ่อน้ำมัน และโรงกลั่นของกลุ่มนี้

โอบามาซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต กำลังถูกพรรครีพับลิกันวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ยุทธศาสตร์ในการปราบปรามไอเอสของเขาไม่ได้ผล ไม่ได้จัดการกับไอเอสอย่างจริงจังมากพอ โดยเฉพาะนับจากเหตุโจมตีปารีสเมื่อวันที่ 13 เดือนที่ผ่านมาที่มีผู้เสียชีวิตถึง 130 ราย และไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบ จากนั้นยังติดตามมาด้วยเหตุกราดยิงในซานเบอร์นาร์ดิโน รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 2 เดือนนี้ ซึ่งทางการเชื่อว่า มือปืนสามี-ภรรยาที่สังหารเหยื่อ 14 รายได้แรงบันดาลใจจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง

ทำเนียบขาวพยายามสยบเสียงวิจารณ์เหล่านั้นด้วยการรายงานความคืบหน้าที่เกิดขึ้นนับจากไอเอสลุกฮืออย่างรวดเร็วในอิรักและซีเรียเมื่อกว่าปีที่ผ่านมาเป็นระยะ รวมทั้งโอบามายังได้กล่าวคำปราศรัยจากห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวถ่ายทอดสดทางทีวีช่วงไพรม์ไทม์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทว่าไม่ได้ช่วยให้เสียงตำหนิโจมตีบรรเทาลงเลย

ในวันอังคาร (15) คาร์เตอร์ที่เดินทางถึงตุรกีเป็นประเทศแรก เรียกร้องอังการาขยายบทบาทเพื่อช่วยทำลายไอเอส เช่น การเพิ่มมาตรการควบคุมชายแดนติดกับซีเรีย โดยเฉพาะแนวชายแดนยาว 98 กิโลเมตรที่เชื่อว่า เป็นช่องทางที่ไอเอสใช้ในการลำเลียงสินค้าผิดกฎหมาย รวมทั้งขอให้ตุรกีส่งกำลังทางอากาศและภาคพื้นดินสมทบกับกองกำลังพันธมิตรอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ คาร์เตอร์ไม่ได้ให้รายละเอียดคำขอที่มีถึงพันธมิตร แต่กล่าวว่า การสมทบของประเทศต่างๆ ควรรวมถึงเครื่องบินโจมตี เครื่องบินสอดแนม เครื่องบินขนส่ง และการช่วยเหลือในการควบคุมแนวพรมแดน และช่วยอเมริกาฝึกฝนกองกำลัง

ในอีกด้านหนึ่ง ซาอุดีอาระเบียได้ประกาศเมื่อวันอังคาร (15) เช่นกัน ถึงการก่อตั้งแนวร่วมทางทหารของ 34 ชาติเพื่อต่อสู้กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะไอเอสเท่านั้น โดยที่คำประกาศก่อตั้งระบุว่า แนวร่วมนี้มี “หน้าที่ประการหนึ่งในการปกป้องคุ้มครองชาติอิสลามจากปีศาจร้ายของกลุ่มและองค์การก่อการร้ายทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะนิกายหรือชื่อของพวกเขาจะใช้ว่าอะไร แต่เที่ยวทำให้เกิดความตายและการฉ้อฉลขึ้นในโลก และมุ่งหมายที่จะสร้างความสยดสยองโหดเหี้ยมต่อผู้บริสุทธิ์”

สำนักข่าวเอสพีเอของทางการซาอุดีฯ รายงานว่า พันธมิตรกลุ่มใหม่นี้จะมีฐานอยู่ในกรุงริยาด เพื่อประสานงานและให้การสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย โดยประกอบด้วยสมาชิกจากตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย อาทิ อียิปต์ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี มาเลเซีย และปากีสถาน โดยแทบทั้งหมดเป็นชาติซึ่งประชากรส่วนข้างมากเป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่

สำหรับอิหร่าน ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายชีอะต์ และเป็นศัตรูกับซาอุดีฯ ไม่ได้เข้าร่วมกับพันธมิตรกลุ่มนี้ โดยที่ทั้งสองชาติยังกำลังทำสงครามตัวแทนกันอยู่ในดินแดนต่างๆ ของตะวันออกกลางตั้งแต่ซีเรียถึงเยเมน

รองมกุฎราชกุมารโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมซาอุดีอาระเบียด้วย แถลงว่า แนวร่วมใหม่นี้จะจัดการปัญหาที่โลกอิสลามมีอยู่กับลัทธิก่อการร้าย และจะเป็นหุ้นส่วนในการต่อสู้ของทั่วโลกกับการก่อการร้าย ทั้งนี้แนวร่วมนี้จะ “ร่วมมือประสานงาน” กับความพยายามในการต่อสู้กับการก่อการร้ายในอิรัก ซีเรีย ลิเบีย อียิปต์ และอัฟกานิสถาน ทว่า ไม่ได้มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการทางทหารที่เป็นรูปธรรมมากนัก

เอสพีเอเสริมว่ามีประเทศมุสลิมอีกกว่า 10 ชาติประกาศสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรนี้ ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซีย


กำลังโหลดความคิดเห็น