xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกสาวไส้ไทยอีก! แฉใช้แรงงานทาสตามโรงงานกุ้ง-ตำรวจสมรู้ร่วมคิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แรงงานต่างด้าว ณ โรงงานกะเทาะเปลือกกุ้งแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ระหว่างการจู่โจมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
เอพี - สื่อต่างประเทศอ้างรายงานผลการสืบสวนตีแผ่เรื่องราวแรงงานต่างด้าวที่ยากจนและเด็กๆ ถูกเร่ขายตามโรงงานต่างๆ ในไทยและถูกบังคับใช้แรงงานกะเทาะเปลือกกุ้ง ซึ่งท้ายที่สุดจะไปจบลงที่ห่วงโซ่อุปทานโลก ในนั้นรวมถึงวอลล์มาร์ทห้างค้าปลีกชื่อดัง และเรด ล็อบสเตอร์ เครือข่ายอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก

รายงานของเอพีระบุว่า ที่โรงงานกะเทาะเปลือกกุ้ง แรงงานชาวพม่าเกือบ 100 ติดอยู่ภายในและส่วนใหญ่ต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง พวกเขาใช้เวลามากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวันทนความเจ็บปวดจุ่มมือในน้ำเย็นจัด ค่อยๆ แกะเปลือกกุ้งออก มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งตัวยังเล็กมากๆ ต้องยืนบนม้านั่งเพื่อจะได้เอื้อมมือถึงโต๊ะที่วางกุ้ง บางรายใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มานานหลายเดือน หรือแม้แต่เป็นปีท่ามกลางการจับตามองของใครบางคน

“พวกเขาไม่ยอมให้เราพักเลย” Eae Hpaw วัย 16 ปี กล่าว ขณะที่พบเห็นร่องรอยแผลเป็นบนแขนของเธอจากการติดเชื้อและอาการแพ้เกี่ยวข้องกับกุ้ง “เราเลิกงานตอนราวๆ 19.00 น. จากนั้นก็จะอาบน้ำและเข้านอน ก่อนจะเริ่มงานอีกครั้งตอนราวๆ 03.00 น.”

มีชาวประมงมากกว่า 2,000 คนที่ได้รับความช่วยเหลือจนเป็นอิสระเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และจากการสืบสวนของเอพีต่อการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงไทย ยังนำมาซึ่งการจับกุมผู้ต้องสงสัยหลายสิบคน ยึดของกลางมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์และเกิดข้อเสนอให้มีการออกกฎหมายใหม่

เอพีระบุว่า ขบวนการค้ามนุษย์ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งช่วยให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก แม้มีคำสัญญาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเหล่านักธุรกิจและรัฐบาลที่จะเก็บกวาดเหตุล่วงละเมิดในอุตสาหกรรมส่งออกอาหารทะเลมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกโหมเชื้อไฟโดยการคอรัปชันและสมคบคิดในหมู่ตำรวจกับเจ้าหน้าที่ ขณะที่การจับกุมและดำเนินคดีมีให้เห็นไม่บ่อยนัก นอกจากนี้ การจู่โจมแต่ละครั้งอาจไปลงเอยด้วยการส่งตัวแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าตาราง โดยไม่มีการลงโทษผู้เป็นเจ้าของกิจการแต่อย่างใด

รายงานข่าวดังกล่าวบอกว่า แรงงานกะเทาะเปลือกกุ้งหลายร้อยคนต้องอยู่หลบๆ ซ่อนๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากกรุงเทพฯ ไปแค่ราวๆ 1 ชั่วโมง ด้วยบางส่วนถูกขังไว้ภายในราวกับทาส

เรื่องราวเหล่านี้ถูกเปิดโปงขึ้นหลังจากเมื่อเดือนที่แล้วผู้สื่อข่าวเอพีลอบติดตามและบันทึกภาพของรถบรรทุกเนื้อกุ้งแกะแล้วจากโรงงานกะเทาะเปลือกกุ้งที่ละเมิดแรงงานสำหรับนำส่งเหล่าบริษัทส่งออกชั้นนำของไทย นอกจากนี้ยังติดตามเครือข่ายคล้ายกันจากโรงงานอีกแห่งที่ถูกเจ้าหน้าที่จู่โจม 6 เดือนก่อนหน้านี้ รวมถึงการสัมภาษณ์แรงงานนับสิบคนจากทั้ง 2 โรงงาน เช่นเดียวกับบริษัทอีกหลายแห่งที่รับกุ้งเหล่านี้ ในนั้นรวมถึงไทย ยูเนียน หนึ่งในบริษัทอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก

สื่อชื่อดังแห่งนี้รายงานต่อไปว่า จากข้อมูลของศุลกากรสหรัฐฯ พบว่ากุ้งเหล่านั้นถูกส่งเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างเช่น วอลล์-มาร์ท, โครเกอร์, โฮลฟูด, ดอลลาร์ เจเนรัล และเพตโค เช่นเดียวกับร้านอาหารอย่าง เรด ล็อบสเตอร์, โอลีฟ การ์เดน นอกจากนี้มันยังเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์อาหารทะเลและอาหารสัตว์ชื่อดังของอเมริกาบางส่วน ได้แก่ ชิกเกนออฟเดอะซี และแฟนซี ฟีสต์ โดยเอพีอ้างว่าได้ลงพื้นที่ซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ ทั้ง 50 รัฐ พบว่าล้วนมีผลิตภัณฑ์กุ้งจากห่วงโซ่ที่แปดเปื้อนปัญหาแรงงานบังคับ

บันทึกการนำเข้าและส่งออกจากยุโรปและเอเชียเป็นความลับ แต่เหล่าบริษัทไทยที่รับกุ้งเหล่านั้นยอมรับกับเอพีว่าพวกเขาส่งออกไปยังทวีปอื่นๆด้วย ขณะที่ผู้สื่อข่าวเอพีในอังกฤษ เยอรมนี อิตาลี และไอร์แลนด์ พบแบรนด์สินค้าจำนวนมากที่มีแหล่งที่มาจากไทยตามซูเปอร์มาร์เก็ตของประเทศเหล่านั้น

เหล่านักธุรกิจตอบสนองต่อรายงานการสืบพบของเอพี ด้วยการประณามแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่นำไปสู่สภาวะเช่นนั้น โดยหลายบริษัทร้องขอรายละเอียดและบอกว่ากำลังดำเนินการสืบสวน โดยเฉพาะทางวอล์-มาร์ต, ล็อบสเตอร์และบริษัทอื่นๆ ที่บอกว่าจะพยายามอย่างที่สุดเพื่อรับประกันว่ากุ้งที่ได้รับนั้นจะไม่แปดเปื้อนจากปัญหาแรงงานทาส

ในการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของนักธุรกิจสหรัฐฯ ที่ร้องขอคำตอบจากการสืบพบของทางเอพี นายธีรพงศ์ จันศิริ ซีอีโอของไทยยูเนียน ยอมรับว่าอาจมีการตบตาลักลอบนำผลิตภัณฑ์จากแหล่งผลิตผิดกฎหมายเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา

เอพีระบุว่า ภูมิภาคอาเซียนเป็นแหล่งค้ามนุษย์ที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่ง ไทยเองถูกประเมินผลติดเทียร์ 3 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯติดต่อมาแล้วสองปี ส่วนสหภาพยุโรปก็ประกาศเตือนด้วยการขึ้นกำแพงภาษีสามเท่า หากไทยยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ คาดว่าเดือนหน้าจะตัดสินว่าจะแบนสินค้าหรือไม่

ซูซาน คอปเพดจ์ เอกอัครราชทูตฝ่ายต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่าที่ปัญหานี้ยังเรื้อรังเพราะว่าผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ แม้อเมริกาเองไม่ได้ลงโทษไทย พันธมิตรสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เธอบอกว่าผู้บริโภคสหรัฐฯสามารถแสดงจุดยืนด้วยการหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยแรงงานทาส

เอพีระบุว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมาไทยผ่านกฎหมายเพื่อปราบปรามการล่วงละเมิดในอุตสาหกรรมประมงและดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งบ่อยครั้งถูกนายหน้าล่อล่วงมาจากบ้านเกิดด้วยคำสัญญาว่าจะได้งานที่มีค่าจ้างงดงาม แต่จากนั้นพวกเขาจะถูกส่งตัวไปโดนบังคับใช้แรงงานตามโรงงานต่างๆ ในนั้นรวมถึงโรงงานกะเทาะเปลือกกุ้ง

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิจารณ์บอกว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นแค่เพียงผิวเผิน อดีตผู้ถูกใช้แรงงานทาสต่างเล่าให้เอพีฟังซ้ำๆ ว่าพวกเขาถูกตำรวจพาเข้าห้องขังและขายพวกเขาต่อให้กับนายหน้าค้ามนุษย์อีกครั้ง พวกเขาบอกว่าตำรวจรับเงินสินบนให้เพิกเฉยเรื่องนี้และก็มีบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจกฎหมายแรงงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น