เอเจนซีส์ - ผู้ผลิตอาวุธในอเมริกาเหนือและยุโรปยังคงครองบัลลังก์เจ้าตลาดอาวุธโลกในปี 2014 แต่ส่วนแบ่งตลาดเริ่มลดน้อยลง ขณะที่บริษัทอาวุธในรัสเซียและเอเชียทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศ (SIPRI) ซึ่งมีฐานที่กรุงสตอกโฮล์มรายงานวันนี้ (14 ธ.ค.)
มูลค่าการส่งออกโดยรวมของบริษัทอาวุธและบริการด้านการทหารรายใหญ่ที่สุด 100 แห่งแรกของโลก ยังคงตกต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยลดลง 1.5% จากเมื่อปี 2013 มาอยู่ที่ราวๆ 401,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัทกลาโหม ล็อกฮีด มาร์ติน ในสหรัฐฯ ยังคงครองแชมป์ผู้ส่งออกอาวุธอันดับ 1 โดยมียอดขายเพิ่ม 3.9% รวมมูลค่าการส่งออก 37,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2014
ผลการศึกษาของ SIPRI พบว่า แม้บริษัทอาวุธในสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกจะยังครองส่วนแบ่งตลาดโลกถึง 80% ทว่ายอดขายในภาพรวมกลับลดลงราว 3.2% ในช่วงปี 2013-2014
ซีมอน เวเซมาน นักวิจัยอาวุโสประจำโครงการค่าใช้จ่ายด้านอาวุธและการทหารของ SIPRI ชี้ว่า ในภูมิภาคยุโรปตะวันตก “งบประมาณด้านกลาโหมส่วนใหญ่ที่หายไปคืองบจัดซื้อ เพราะการตัดงบจัดซื้อง่ายกว่าตัดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ ดังนั้น วิธีประหยัดงบประมาณที่ได้ผลเร็วที่สุดก็คือ ซื้อให้น้อยลง”
ขณะเดียวกัน บริษัทกลาโหมในภูมิภาคอื่น 36 แห่งซึ่งอยู่ในลิสต์ของ SIPRI กลับมียอดขายอาวุธเพิ่มขึ้นราว 25% โดยเฉพาะรัสเซียซึ่งสามารถส่งออกอาวุธได้มากกว่าเดิมเกือบ 50%
“บริษัทอาวุธรัสเซียได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลมอสโกเพิ่มงบด้านการทหาร และยังส่งออกได้มากขึ้นด้วย” เวเซมานกล่าว
บริษัทอาวุธของรัสเซีย 11 แห่งมีรายได้รวมกันเพิ่มขึ้นถึง 48.4% ในช่วงปี 2013-2014 โดยบริษัท อัลมาซ-อันเทย์ (Almaz-Antey) รั้งแชมป์มูลค่าการส่งออกสูงสุด 8,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และครองอันดับที่ 11 ของโลก
อัลมาซ-อันเทย์ เป็นผู้ผลิตขีปนาวุธ BUK ซึ่งเชื่อกันว่าถูกนำไปใช้ยิงเครื่องบินโบอิ้ง 777 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สตกเหนือน่านฟ้ายูเครน เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ปีที่แล้ว
อาวุธที่ผลิตในรัสเซียส่วนใหญ่จะถูกส่งไปใช้งานในกองทัพหมีขาวเอง แต่ก็มีบางประเทศที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ เช่น จีน และ อินเดีย
เวเซมานชี้ว่า รัสเซียขายอาวุธให้แก่ซีเรียมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ทว่าในปัจจุบันดามัสกัสได้รับอาวุธจากแดนหมีขาวลดน้อยลงไปมาก
“รัสเซียถือหลักที่ว่า เงินมา... ของไป ถ้าไม่จ่ายก็ไม่มีของให้” เวเซมาน กล่าว
สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 5 ปีได้คร่าชีวิตชาวซีเรียไปแล้วเกือบ 250,000 คน และทำให้พลเมืองอีกหลายล้านต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย
มาตรการคว่ำบาตรที่ตะวันตกใช้กับรัสเซียเพื่อลงโทษที่ช่วงชิงคาบสมุทรไครเมียไปจากยูเครนเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2014 ดูเหมือนจะไม่ทำให้อุตสาหกรรมอาวุธรัสเซียสะเทือนมากนัก เจ้าหน้าที่ระบุว่า การถูกคว่ำบาตรเพียงแต่ทำให้รัสเซียต้องมองหาตลาดใหม่ๆ และพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธให้รุดหน้ายิ่งกว่าเดิมเท่านั้น
ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักกลับกลายเป็น “ยูเครน” ซึ่งมูลค่าการส่งออกอาวุธลดลงถึง 37.4% สืบเนื่องจากข้อพิพาทกับรัสเซีย
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยูเครนขายอาวุธได้น้อยลงคือความขัดแย้งในภาคตะวันออก การสูญเสียตลาดในรัสเซีย และปัญหาค่าเงินอ่อน” เวเซมานกล่าว
ตุรกีมีบริษัทอาวุธ 2 แห่งติดโผ 100 บริษัทใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ อาเซล ซาน (ASELSAN) ซึ่งยอดขายเพิ่มขึ้น 5.6% ในปี 2014 แต่ร่วงจากอันดับ 66 ลงไปอยู่ที่ 73 ของโลก ส่วน เตอร์กีซ แอโรสเปซ อินดัสตรีส์ (TAI) ก็ผ่านเข้ามาอยู่ในลำดับที่ 89 ของโลกด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้น 15.1%
ผู้ผลิตอาวุธจากแดนโสมขาวมีมูลค่าส่งออกรวมกันเพิ่มขึ้น 10.5% ในปี 2014 โดย ฮุนได โรเท็ม (Hyundai Rotem) เป็นรายล่าสุดที่สามารถขยับขึ้นมาอยู่ในลิสต์ 100 บริษัทใหญ่ของโลก ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นจาก 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2013 มาอยู่ที่ 770 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014
รายนาม 100 บริษัทอาวุธรายใหญ่ของโลกที่ SIPRI จัดทำขึ้น มีผู้ผลิตจากเอเชียติดโผมาเพียง 15 ราย โดยไม่มีบริษัทจีนอยู่เลย
สถาบันแห่งนี้ไม่พิจารณายอดขายอาวุธของปักกิ่ง เนื่องจากขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ