xs
xsm
sm
md
lg

รบ.สหรัฐฯ สั่งพลเมืองมะกันรีบออกจาก “บุรุนดี” หลังความรุนแรงในอดีตเมืองขึ้นเบลเยียมพุ่งขึ้นต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี / เอพี / เอเจนซีส์ / MGR online - รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกโรงวิงวอนในวันอาทิตย์ (13 ธ.ค.) ให้พลเมืองอเมริกันเดินทางออกจากบุรุนดีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลังมีผู้เสียชีวิตถึง 87 รายจากเหตุรุนแรงในประเทศนี้เมื่อคืนวันศุกร์ (11) จากผลพวงของวิกฤตความขัดแย้งที่มีต้นตอมาจากความพยายามดิ้นรนอยู่ในอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 3 ของประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นคูรุนซิซา

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำเตือนล่าสุดในวันอาทิตย์ (13 ธ.ค.) ให้พลเมืองอเมริกันรีบเดินทางออกจากประเทศบุรุนดีโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากผลพวงของความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศนี้ พร้อมออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และลูกจ้างของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ทุกคนเร่งเดินทางออกจากบุรุนดีเช่นกัน ยกเว้นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีภารกิจที่มีความสำคัญและฉุกเฉิน

คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ล่าสุดยังระบุด้วยว่า นับจากนี้เป็นต้นไปศักยภาพของสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำกรุงบูจุมบูราที่เป็นเมืองหลวงของบุรุนดี ในการให้ความช่วยเหลือยามฉุกเฉินแก่พลเมืองอเมริกันในประเทศนี้จะเหลืออยู่อย่างจำกัด

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางการของเบลเยียมซึ่งอดีตประเทศเมืองแม่ของบุรุนดีในยุคอาณานิคม ได้ออกคำเตือนให้พลเมืองของตนเดินทางออกจากประเทศทางตอนกลางของทวีปแอฟริกาแห่งนี้โดยเร็วเช่นกัน หลังเกิดคลื่นแห่งการสังหารหมู่ระหว่างผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลกับบรรดาผู้สนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

เมื่อวันศุกร์ (11 ธ.ค.) มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 87 รายในบุรุนดี หลังเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธที่มีจำนวนประมาณ 150 คนบุกโจมตีฐานทัพของกองทัพบุรุนดี 3 แห่งเป็นเป้าหมาย โดย พ.อ.กัสปาร์ด บาราตูซา โฆษกกองทัพบุรุนดี ออกมาแถลงในวันเสาร์ (12) โดยระบุว่ามีสมาชิกกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลบุรุนดี เสียชีวิตไป 8 นาย ขณะที่สมาชิกฝ่ายกบฏถูกสังหารไป 79 ราย และทางกองทัพสามารถจับกุมสมาชิกฝ่ายกบฏได้อีก 45 รายและยึดอาวุธปืนซึ่งไม่มีการเปิดเผยชนิดได้อีก 97 กระบอก แต่ในขณะเดียวกัน ทางกองกำลังผสมร่วมทหาร-ตำรวจของบุรุนดีก็ต้องสูญเสียกำลังพลของตนไป 8 นาย และมีกำลังพลได้รับบาดเจ็บอีก 21 นายจากเหตุรุนแรงระลอกล่าสุดนี้

รายงานข่าวระบุว่า มีเสียงปืนดังขึ้นทั่วกรุงบูจุมบูรา เมืองหลวงของบุรุนดีตลอดทั้งวันศุกร์ (11) หรือเพียง 1 วันหลังจากที่ทางการบุรุนดีออกมาประกาศว่า พบความพยายามในการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของ “ผู้ไม่หวังดี” กลุ่มหนึ่ง เพื่อก่อความรุนแรงและบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ

คำแถลงของโฆษกกองทัพบุรุนดีระบุว่า กองกำลังติดอาวุธดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความพยายามบุกเข้าปล้นอาวุธปืน และกระสุนจากฐานทัพทั้ง 3 แห่ง รวมถึงที่ตั้งของวิทยาลัยทางทหารแห่งหนึ่งที่เมืองมูซากาสำหรับนำไปใช้ก่อความรุนแรงที่มีเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนเป็นเป้าสังหาร

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นชาวเกาหลีใต้ ระบุว่ากำลังพิจารณาแผนส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นเข้าไปยังบุรุนดี เพื่อรับมือกับความรุนแรงในประเทศนี้ ท่ามกลางความพยายามทางการทูตที่ต้องการผลักดันให้เกิดกระบวนการเจรจา ระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ก่อนจะเกิดสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ

ที่ผ่านมาทางเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติได้เสนอ 3 ทางเลือกในการแก้วิกฤตในบุรุนดี ผ่านทางจดหมายที่ถูกส่งตรงถึงที่ประชุม 15 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) เพื่อหาทางยับยั้งเหตุนองเลือดในบุรุนดี

โดย 3 ทางเลือกที่บันนำเสนอในครั้งนี้ รวมถึงการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นเข้าไปดูแลความสงบเรียบร้อย, การตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อจับตาสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในบุรุนดี และการผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพในบุรุนดีให้เป็นรูปเป็นร่าง

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบุรุนดีได้พุ่งขึ้นสู่ระดับที่น่าตื่นตระหนก และการพูดคุยหารือกันเพื่อยุติความรุนแรงนี้จะต้องถูกจัดให้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยทางสหประชาชาติจะหาหนทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ร่วมกับหุ้นส่วนในภูมิภาค เพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ด้านความมั่นคงในบุรุนดีที่เลวร้ายย่ำแย่ลง และป้องกันการขยายวงกว้างของความรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการ เกิดสงครามเต็มรูปแบบ” เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นกล่าวผ่านจดหมายที่ส่งถึงคณะมนตรีความมั่นคงฯ

ทั้งนี้ บุรุนดี อดีตดินแดนอาณานิคมของเบลเยียมได้ถลำเข้าสู่วิกฤตความรุนแรงนับตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นคุรุนซิซา พยายามแก้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายอำนาจให้ตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไป อีกทั้งยังดึงดันจัดการเลือกตั้ง ที่ทางคณะผู้สังเกตการณ์จากยูเอ็นระบุว่า ไม่มีทั้งความน่าเชื่อถือและความยุติธรรม เพื่อให้ตัวเองได้รับชัยชนะเมื่อเดือนกรกฎาคม เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงพลังต่อต้าน จนเกิดเหตุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 300 รายขณะที่ชาวบุรุนดีอีกมากกว่า 215,000 รายต้องหลบหนีออกนอกประเทศ






กำลังโหลดความคิดเห็น