xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” ได้เพื่อน! อดีตผู้นำออสซี “โทนี แอ็บบอตต์” ยกย่องวัฒนธรรมตะวันตก “สูงส่งกว่าอิสลาม” จวกเป็นศาสนาที่สร้างแต่ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย (ภาพ - เอพี)
เอเอฟพี - อดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งออสเตรเลีย ออกมาระบุวันนี้ (9 ธ.ค.) ว่า “แต่ละวัฒนธรรมในโลกมีศักดิ์ศรีไม่เท่ากัน” และชี้ว่าโลกตะวันตกควรประกาศ “ความสูงส่ง” เหนือศาสนาอิสลามซึ่งเป็นตัวก่อปัญหา

แอ็บบอตต์ซึ่งถูกโหวตโค่นจากหัวหน้าพรรคลิเบอรัลจนสูญเสียเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้แก่ มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ เมื่อเดือน ก.ย. เรียกร้องให้ชาติตะวันตก “ออกมาประกาศว่าวัฒนธรรมของเราสูงส่งกว่าบางวัฒนธรรมที่อนุญาตให้เข่นฆ่าผู้อื่นได้ในนามของพระเจ้า”

“เราไม่สามารถปฏิเสธได้อีกว่าอิสลามคือศาสนาที่มีปัญหามาก” อดีตผู้นำออสซีเขียนในบทความแสดงความคิดเห็นซึ่งเผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์ ซิดนีย์ เดลี เทเลกราฟ

“อิสลามไม่เคยสอนเรื่องการปฏิรูปและการรู้แจ้ง ( The Reformation and the Enlightenment) การยอมรับในความเป็นพหุนิยม และการแยกออกจากกันระหว่างศาสนากับรัฐ”

“โชคดีที่ผู้นำมุสลิมจำนวนมากเล็งเห็นว่าความศรัทธาของพวกเขาควรถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัย ไม่ใช่ยึดถือหลักการ “ฆ่า หรือไม่ก็ถูกฆ่า” อย่างในยุคของศาสดามูฮัมหมัด”

แอ็บบอตต์ ซึ่งเคยศึกษาหลักสูตรนักธรรมคาทอลิกก่อนจะเข้ามาเล่นการเมือง และเคยได้ฉายาว่า “นักบวชบ้า” (Mad Monk) ยังพูดเสริมอีกว่า ชาวออสซี “ไม่ควรรู้สึกผิดต่อค่านิยมที่ทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีเสรีภาพ มีความเป็นธรรม และเจริญรุ่งเรืองไม่น้อยไปกว่าดินแดนใดในโลก”

คำพูดของแอ็บบอตต์มีขึ้นในขณะที่ทั่วโลกออกมาติเตียนแนวคิดสุดโต่งของมหาเศรษฐี “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้สมัครตัวเก็งในศึกชิงตัวแทนพรรครีพับลิกัน ซึ่งออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศ
นักเคลื่อนไหวชาวอินโดนีเซียยืนประท้วงต่อต้านนายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ ที่หน้าสถานทูตออสเตรเลียในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2015 (แฟ้มภาพ)
บิล ชอร์เทน หัวหน้าพรรคแรงงานฝ่ายค้านของออสเตรเลีย วิจารณ์คำพูดของแอ็บบอตต์ว่า “ไม่สร้างสรรค์เอาเสียเลย”

“การพูดยั่วยุเพื่อสร้างความเกลียดชังมีแต่จะทำลายความกลมกลืนในสังคม การเคารพซึ่งกันและกัน และอาจบั่นทอนความพยายามของหน่วยงานความมั่นคงที่จะช่วยให้ชาวออสเตรเลียอยู่กันอย่างปลอดภัย” ชอร์เทน ระบุ

ด้านนางกิลเลียน ทริกส์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งออสเตรเลีย ก็ออกมาติเตียนท่าทีของอดีตนายกฯ เช่นกัน

“เราควรจะระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่พูดจาเหมารวมเกี่ยวกับอิสลามในฐานะที่เป็นศาสนาหนึ่งของโลก และชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย”

“(ชาวมุสลิม) ส่วนมากที่ดิฉันได้รู้จักระหว่างการทำงาน พวกเขาใฝ่สันติและสร้างครอบครัวที่ดีมาก ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ หาคำตอบให้ได้ว่าเหตุใดมุสลิมส่วนน้อยจึงถูกชักจูงไปในทางสุดโต่ง”

นายกรัฐมนตรี เทิร์นบูลล์ กล่าวผ่านสถานีวิทยุแห่งชาติว่า แอ็บบอตต์มีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ก็ต่อต้านและหวาดกลัวลัทธิหัวรุนแรงเช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ

“แนวคิดสุดโต่งของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) หรือดาเอช และผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงจากผู้นำชาติมุสลิมส่วนใหญ่... สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้น และผมเชื่อว่า โทนี ก็คงเห็นด้วย นั่นคือเราต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายศัตรู ไม่โยนบาปให้ชาวมุสลิมทุกคนต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่คนเพียงไม่กี่หยิบมือเป็นผู้ก่อ”

ออสเตรเลียซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ในการปราบปรามกลุ่มไอเอส สามารถสกัดแผนโจมตีของมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศได้แล้วถึง 6 ครั้ง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

กำลังโหลดความคิดเห็น