เอเจนซีส์ - องค์กรการกุศลออกซ์แฟม (Oxfam) ในอังกฤษเผยผลการศึกษาซึ่งพบว่าคนร่ำรวยที่คิดเป็นสัดส่วนแค่ 1 ใน 10 ของประชากรโลกทั้งหมด กลับเป็นตัวการก่อก๊าซเรือนกระจกทำลายชั้นบรรยากาศโลกถึง “ครึ่งหนึ่ง”
ออกซ์แฟมได้แพร่รายงานในวันนี้ (2 ธ.ค.) ขณะที่ผู้เจรจาจาก 195 ประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมการประชุมครั้งสำคัญที่กรุงปารีส เพื่อผลักดันข้อตกลงสากลที่จะช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกอย่างได้ผลและยั่งยืน
ข้อถกเถียงเรื่องสัดส่วนความรับผิดชอบที่แต่ละประเทศจะต้องแบกรับในการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการให้ทุนช่วยเหลือประเทศยากจนที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การประชุมสหประชาชาติเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศที่ดำเนินมาแล้วถึง 25 ปี ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม
“กลุ่มคนร่ำรวยซึ่งเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดควรรับผิดชอบกับมลพิษที่พวกเขาก่อขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดก็ตาม” ทิม กอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสภาพอากาศของออกซ์แฟม ระบุในถ้อยแถลง
“เรามักหลงลืมว่าในประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ยังมีกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดอาศัยอยู่ด้วย และแม้พวกเขาควรแบกรับภาระตามสัดส่วนที่เป็นธรรม แต่ประเทศร่ำรวยก็ยังสมควรเป็นผู้นำในเรื่องนี้”
รายงานของออกซ์แฟมชี้ว่า ประชากรร่ำรวยที่สุด 1% ของโลกใช้คาร์บอนเฉลี่ยต่อหัวสูงกว่ากลุ่มประชากรยากจนที่สุด 10% ของโลกถึง 175 เท่า และพลเมือง 10% ที่ร่ำรวยที่สุดในอินเดียก็ใช้คาร์บอนเฉลี่ยต่อหัวเพียง 1 ใน 4 ของพลเมืองยากจนครึ่งหนึ่งในสหรัฐฯ
กลุ่มประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนายังคงทุ่มเถียงกันไม่จบเรื่องความรับผิดชอบในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเกิดจากการนำถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ มาเผาผลาญเพื่อผลิตพลังงาน
ประเทศกำลังพัฒนามองว่า ชาติตะวันตกมีส่วนก่อมลพิษมายาวนานกว่า จึงควรแบกรับภาระจำกัดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า อีกทั้งชาติร่ำรวยก็ควรให้เงินทุนและสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนแก่ประเทศที่ยากจน เพื่อยับยั้งผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เช่น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง ภัยแล้ง และลมพายุที่รุนแรง
นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย กล่าวต่อผู้นำทั่วโลกที่กรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ (30 พ.ย.) ว่า “เราหวังว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายจะมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายอย่างจริงจัง นี่ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบในทางประวัติศาสตร์ แต่ประเทศเหล่านี้ยังมีศักยภาพสูงสุดในการที่จะลด (ก๊าซเรือนกระจก) ให้ได้ผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด”
กลุ่มประเทศร่ำรวยซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำได้ออกมาคัดค้านแนวคิดแบบ “แยก 2 ส่วน” (bifurcated approach) ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กลุ่มประเทศหนึ่งรับไปฝ่ายเดียว โดยที่ประเทศอื่นๆ ไม่ต้องทำอะไร และยังชี้ถึงปริมาณคาร์บอนมหาศาลที่มหาอำนาจเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียมีส่วนก่อขึ้น โดยให้พิจารณาที่ “ปริมาณรวม” มากกว่าค่าเฉลี่ยต่อหัวประชากร