เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียให้สัมภาษณ์สื่อของสาธารณรัฐเช็ก โดยกล่าวหารัฐบาลฝรั่งเศสว่า “สนับสนุนลัทธิก่อการร้าย” และยอมรับว่าอาจมีกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงแฝงตัวไปกับคลื่นผู้ลี้ภัยซีเรีย
ในบทสัมภาษณ์ซึ่งจะออกอากาศเต็มทางสถานีโทรทัศน์ของสาธารณรัฐเช็กในวันนี้ (1 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวซึ่งเดินทางไปขอสัมภาษณ์อัสซาดถึงกรุงดามัสกัส ได้ตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ข้อตกลงสันติภาพซีเรียจะลงนามกันที่กรุงปราก อย่างที่ประธานาธิบดีมิลอส เซมาน ได้เสนอไว้เมื่อเดือน ก.ย.
“โดยธรรมชาติแล้ว ถ้าคุณไปถามชาวซีเรีย พวกเขาจะตอบว่าไม่อยากให้การประชุมสันติภาพจัดขึ้นที่ฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสสนับสนุนลัทธิก่อการร้ายและสงคราม ไม่ใช่สันติภาพ” อัสซาด บอกกับพิธีกรจากสถานีโทรทัศน์ซีที
“และที่คุณพูดถึงกรุงปราก ผมว่าไม่มีปัญหา เพราะประเทศของคุณก็มีจุดยืนเป็นกลาง ไม่เอียงข้างฝ่ายใด”
สถานทูตสาธารณรัฐเช็กนอกจากจะเป็นหน่วยงานการทูตของตะวันตกแห่งสุดท้ายในกรุงดามัสกัสแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการติดต่อเชิงลับระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกับระบอบอัสซาด เพื่อหาทางยุติสงครามนองเลือดที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 5 ปี
อัสซาดยังระบุอีกว่า มี “ผู้ก่อการร้าย” แฝงตัวไปกับคลื่นผู้อพชาวซีเรียที่มุ่งหน้าสู่ยุโรป
“มันก็ผสมปนเปกัน ส่วนใหญ่พวกเขาเป็นชาวซีเรียที่ดี เป็นคนรักชาติ แต่แน่นอนว่าต้องมีผู้ก่อการร้ายปะปนไปบ้าง นี่เป็นความจริง” อัสซาด กล่าว เมื่อพิธีกรถามว่าพลเมืองยุโรปควรจะหวาดกลัวผู้อพยพจากซีเรียหรือไม่
เหตุโจมตีที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ซึ่งกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบ ทำให้บรรดาชาติยุโรปต้องเพิ่มมาตรการคัดกรองผู้อพยพอย่างเข้มงวด
ฝรั่งเศสประณามอัสซาด ว่าเป็น “ฆาตกร” สังหารหมู่พลเมืองของตนเอง และประกาศจุดยืนแข็งกร้าวว่าไม่ยอมรับความเป็นผู้นำที่ชอบธรรมของเขา
โลรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ยืนยันอีกครั้งวานนี้ (30 พ.ย.) ว่า การร่วมมือกับกองทัพซีเรียเพื่อปราบปรามกลุ่มไอเอสจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนตราบใดที่เขายังอยู่ในตำแหน่ง
ด้านประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ก็ได้กล่าวขณะไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ฝรั่งเศสต้องการให้อัสซาดพ้นจากอำนาจ “โดยเร็วที่สุด” เพื่อเปิดทางให้เกิดสันติภาพขึ้นในซีเรีย
“เขาคือตัวปัญหา และไม่สามารถจะเป็นทางออกของปัญหาได้” ออลลองด์กล่าว
วิกฤตการณ์ในซีเรียเริ่มก่อตัวขึ้นจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติเมื่อปี 2011 แต่เมื่อ อัสซาด ใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ต่อต้าน ความขัดแย้งจึงขยายวงกว้างและลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่มีคู่ขัดแย้งหลายฝ่าย