xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจชี้ยอดจองห้องพักในปารีสลดฮวบ หลังเหตุวินาศกรรม 13 พ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอพี / เอเจนซีส์ / MGR online - ผลสำรวจล่าสุดพบข้อมูลอัตราการจองโรงแรมในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ลดต่ำลงมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หลังเมืองหลวงของฝรั่งเศสเผชิญกับเหตุก่อวินาศกรรมเมื่อ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา

ผลสำรวจที่มีการเผยแพร่ล่าสุดในวันพฤหัสบดี (26 พ.ย.) โดยสถาบัน “เอสทีอาร์ โกลบัล” ระบุว่า อัตราการจองห้องพักตามโรงแรมในกรุงปารีสของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หรือราว 1 สัปดาห์หลังเหตุก่อวินาศกรรม 6 จุดทั่วกรุงปารีส มีอัตราลดลง 39 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่อัตราการจองห้องพักโรงแรมในเมืองหลวงของฝรั่งเศสในช่วงระหว่างวันที่ 15-20 พฤศจิกายน หรือหลังเกิดเหตุก่อวินาศกรรมหมาดๆ มีสัดส่วนลดลงระหว่าง 20-30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเมื่อปี 2014

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยของเอสทีอาร์ โกลบัลซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ข้อมูลที่ปรากฏในผลการสำรวจของตนนั้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่ง ที่มีที่มาจากการสุ่มสำรวจยอดจองห้องพักรายเดือนของโรงแรมเพียง 37 เปอร์เซ็นต์ในกรุงปารีสเท่านั้น

ในขณะที่บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง “ฟอร์เวิร์ด ดาตา เอสแอล” ออกมาเปิดเผยผลสำรวจของตนที่ระบุว่า อัตราการจองห้องพักช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาสในกรุงปารีสปีนี้ลดลง 13 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการลดลงดังกล่าวของยอดจองห้องพักน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุก่อวินาศกรรมปารีสเมื่อ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากเว็บไซต์ “InsureMyTrip” ผู้ให้บริการเปรียบเทียบอัตราเบี้ยประกันภัยด้านการเดินทางชื่อดังกลับระบุว่า หลังเหตุวินาศกรรมกรุงปารีสจำนวนของผู้ที่ต้องการซื้อประกันชีวิต-ประกันภัยระหว่างการเดินทางในต่างประเทศกลับเพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับยอดซื้อประกันระหว่างการเดินทางในช่วงปกติ

ทั้งนี้ การก่อวินาศกรรมโดยผู้ก่อการร้ายกลางกรุง ปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำของวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงก่อนเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้คนทั่วทั้งโลก ไม่เพียงแต่ชาวฝรั่งเศสเท่านั้น โดยเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นถือได้ว่าก่อให้เกิดการนองเลือดที่สุดใน ฝรั่งเศสนับตั้งแต่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และยังถือเป็นเหตุก่อวินาศกรรมครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินยุโรป นับตั้งแต่เหตุระเบิดรถไฟที่กรุงมาดริดของสเปน เมื่อปี 2004

เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นใจกลางกรุงปารีส รวมถึงที่ย่านชานเมืองอย่าง “แซงต์-เดอนีส์” ที่อยู่ทางตอนเหนือของเมืองหลวงแดนน้ำหอม ที่เกิดขึ้นในจังหวะเวลาใกล้เคียงกันถึง 6 จุด ถูกระบุว่า มีทั้งเหตุกราดยิง การโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตาย และการจับพลเรือนผู้บริสุทธิ์เป็นตัวประกัน ได้นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งเลวร้ายโดยที่มีการยืนยันยอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 130 รายจากการก่อวินาศกรรมในเมืองหลวงของแดนน้ำหอมคราวนี้

หลังเกิดเหตุไม่นาน ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำฝรั่งเศสได้ออกมาประณามกลุ่มผู้ก่อเหตุโดยระบุ เหตุก่อวินาศกรรมที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างจาก “การประกาศสงคราม” กับฝรั่งเศสโดยตรง พร้อมทั้งมีการประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งกลายเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งแรกของฝรั่งเศส นับตั้งแต่เกิดเหตุจลาจลเมื่อปี 2005 เป็นต้นมา ยิ่งไปกว่านั้น นี่ยังถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการประกาศ “เคอร์ฟิว” ในกรุงปารีส ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหานครแห่งแสงสี และเป็นเมืองหลวงที่ “มิเคยหลับ”

เพียงไม่กี่อึดใจหลังจากที่เสียงปืนและเสียงระเบิดในกรุงปารีสเงียบสงบลงกลุ่มนักรบญิฮัดรัฐอิสลาม (Islamic State : IS) ที่มีฐานอยู่ในซีเรียและอิรัก ออกมาประกาศอ้างตัวเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายระลอกนี้ทั้งที่เกิด ขึ้นบริเวณด้านนอกสนามกีฬาสตาด เดอ ฟรองซ์ (Stade de France) , โรงละครบาตากล็อง (Bataclan theatre) ตลอดจนถนนอีก 4 สายในกรุงปารีส โดยคำแถลงของกลุ่มไอเอสที่มีการเผยแพร่บนโลกออนไลน์ระบุว่า นี่เป็นการแก้แค้นที่ฝรั่งเศสเปิดการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอสในซีเรีย และเป็นการตอบโต้ที่รัฐบาลฝรั่งเศส ดำเนินนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลกอิสลามและกดขี่ชาวมุสลิม

อย่างไรก็ดี เหตุโจมตี 6 จุดกลางเมืองหลวงของฝรั่งเศสที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้ลงมือก่อเหตุหลายรายแอบแฝงมากับคลื่นผู้อพยพ ได้ส่งผลกระทบให้บรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองในหลายประเทศทั่วยุโรป เริ่มหันมาทบทวนท่าทีและจุดยืนของตนต่อบรรดาผู้อพยพลี้ภัยจำนวนนับล้านที่ไหลบ่าจากซีเรีย และอีกหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงทวีปแอฟริกา เข้าสู่ยุโรป ตลอดระยะเวลาขวบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเยอรมนีที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กอย่างนางอังเกลา แมร์เคิลประกาศนโยบาย “เปิดประตู” รับผู้อพยพอย่างออกนอกหน้าไปก่อนหน้านี้

ขณะที่รัฐบาลอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออกที่ก่อนหน้านี้ ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการรับผู้อพยพตามการจัดสรรโควต้าของสหภาพยุโรป (อียู) มาโดยตลอด ต่างพากันออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นกว่าเดิม และประกาศไม่ยอมรับผู้อพยพลี้ภัยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เข้าสู่ประเทศของตนอย่างเด็ดขาด

จนถึงขณะนี้ ข้อมูลจากการสืบสวนของทางการฝรั่งเศส สรุปได้เบื้องต้นว่า เหตุก่อวินาศกรรม 6 จุดที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 130 ศพในกรุงปารีสนั้น ทางกลุ่มผู้ก่อเหตุซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอสได้วางแผนโจมตีนี้ในประเทศซีเรีย จากนั้นจึงมีการตระเตรียมและจัดตั้งทีมก่อวินาศกรรมขึ้น ในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของฝรั่งเศสอย่างเบลเยียม ก่อนที่ทีมโจมตีของกลุ่มไอเอสจะลักลอบเดินทางเข้าสู่ฝรั่งเศส โดยที่มีพลเมืองฝรั่งเศสสมรู้ร่วมคิดด้วย












กำลังโหลดความคิดเห็น