xs
xsm
sm
md
lg

โอบามา – เบรซซินสกี้ – รูต: 3 แกรนด์มาสเตอร์แห่งภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: อัลเฟรด ดับเบิลยู แมคคอย

(‘โอบามา’คือ 'แกรนด์มาสเตอร์แห่งภูมิรัฐศาสตร์' ที่วางยุทธศาสตร์ใหม่ในการปิดล้อมจีน ตอนจบ)

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Grandmaster of the great game: Obama’s geopolitical strategy for containing China
By Alfred W. McCoy
15/09/2015

ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา มีบุคคลเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งควรที่จะยกย่องว่าเป็นมือเซียนระดับแกรนมาสเตอร์แห่งภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ เอลิฮู รูต สถาปนิกคนเริ่มแรกวางแผนให้อเมริกาก้าวผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับโลก, ซบิกนิว เบรซซินสกี้ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้จักรวรรดิสหภาพโซเวียตแตกเป็นเสี่ยง จนสหรัฐฯกลายเป็นอภิมหาอำนาจของโลกแต่เพียงผู้เดียว, และ บารัค โอบามา ผู้ซึ่งกำลังพยายามปกป้องสถานะดังกล่าวของอเมริกาเอาไว้ อีกทั้งเสนอพิมพ์เขียวแบบจักรวรรดิอันน่าตื่นใจเกี่ยวกับวิธีการในการทัดทานขวางกั้นการก้าวผงาดของจีน

ข้อเขียนนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน นี่คือตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ

คลิกเพื่ออ่านตอนแรก

แกรนด์มาสเตอร์แห่งภูมิรัฐศาสตร์

ในขณะที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา มุ่งมั่นเดินตามมหายุทธศาสตร์ดังกล่าว (เอาไว้ในข้อเขียนตอนแรก) นี้ อย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่นั่นเอง เขาก็ได้เปิดเผยตัวเองให้เห็นว่า เขาคือหนึ่งในผู้นำสหรัฐฯจำนวนไม่กี่คนนับตั้งแต่อเมริกาก้าวผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกเมื่อปี 1898 ซึ่งสามารถที่จะเล่นเกมอันยิ่งใหญ่แห่งการเข้าครอบงำพื้นพิภพในแบบจักรวรรดิเช่นนี้ได้ โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นแกรนด์มาสเตอร์แห่งภูมิรัฐศาสตร์ ต้องมีทั้งวิสัยทัศน์และความโหดเหี้ยมอำมหิตอย่างมีความสมดุลกัน ขอให้ลืมไปได้เลย เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) ชื่อซึ่งใครต่อใครต่างเสนอออกมาว่าควรถือเป็นนักการทูตชั้นเซียน คิสซิงเจอร์นั้นไร้ความเหมาะสม ก็เพราะว่าเขามีแต่ความโหดเหี้ยมอำมหิต กระทั่งสามารถขยายสงครามเวียดนามออกไปอีก 7 ปีที่เต็มไปด้วยการนองเลือด ทั้งนี้ก็เพื่อปกปิดความล้มเหลวทางการทูตของตัวเขาเอง นอกจากนั้นเขายังส่ง ติมอร์ตะวันออก ไปถวายอินโดนีเซีย จนทำให้เกิดการเข่นฆ่าสังหารหมู่อยู่เป็นเวลาหลายสิบปีจวบจนกระทั่งประเทศนี้ได้รับเอกราชอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในที่สุด เขาทำให้เครดิตความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯในละตินอเมริกาต้องเกิดรูพรุนใหญ่โตเสียโฉมไปเลย ด้วยการหนุนหลังจัดตั้งระบอบปกครองเผด็จการทหารจอมฆาตกรขึ้นในชิลี และเขาจัดการรับมือกับมอสโกอย่างผิดพลาดในวิถีทางที่ทำให้สงครามเย็นต้องยืดขยายออกไปอีก 15 ปี ความสำเร็จทางการงานอาชีพของคิสซิงเจอร์นั้น ก็อย่างที่ ริชาร์ด ฟอล์ก (Richard Falk) ผู้ชำนาญการด้านกฎหมายระหว่างประเทศเขียนเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ (ดูที่ http://mil.sagepub.com/content/early/2015/07/05/0305829815594038.abstract?rss=1) นั่นคือ มีลักษณะโดดเด่นตรง “ศักยภาพอันพิเศษเหนือธรรมดาของเขา ที่จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯกระทำผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการตัดสินใจด้านนโยบายการต่างประเทศครั้งสำคัญๆ แทบจะทุกเรื่อง ตลอดช่วงระยะเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา”

ครั้นเมื่อเรานำเอาผู้นำชาวอเมริกันคนอื่นๆ เข้ามาสู่การพิจารณา ในแบบคำนึงถึงทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายและทั้งผลประโยชน์ที่ทำออกมาได้ทำนองเดียวกันนี้ เราก็มีความประหลาดใจเป็นอย่างมาก เมื่อปรากฏว่าเหลืออยู่เพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งควรที่จะยกย่องว่าเป็นมือเซียนระดับแกรนมาสเตอร์แห่งภูมิรัฐศาสตร์ บุคคลเหล่านี้ ได้แก่ เอลิฮู รูต (Elihu Root) สถาปนิกคนแรกเริ่มวางแผนให้อเมริกาก้าวผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับโลก, ซบิกนิว เบรซซินสกี้ (Zbigniew Brzezinski) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้จักรวรรดิโซเวียตแตกเป็นเสี่ยง จนสหรัฐฯกลายเป็นอภิมหาอำนาจของโลกแต่เพียงผู้เดียว, และ บารัค โอบามา ผู้ซึ่งกำลังพยายามปกป้องสถานะดังกล่าวของอเมริกาเอาไว้ และเสนอพิมพ์เขียวแบบจักรวรรดิอันน่าตื่นใจเกี่ยวกับวิธีการในการทัดทานขวางกั้นการก้าวผงาดของจีน ในแต่ละรายที่กล่าวมานี้ การเคลื่อนไหวเดินหมากของพวกเขาต่างอยู่ในลักษณะที่ยืดหยุ่นนุ่มนวลและละเอียดอ่อนจนกระทั่งพวกเขาไม่เป็นที่สนใจทั้งของพวกผู้สังเกตการณ์ร่วมสมัยและของเหล่านักประวัติศาสตร์ในยุคต่อมา

ประธานาธิบดีชาวอเมริกันหลายต่อหลายคน (ลองนึกถึง ธีโอดอร์ รูสเวลต์, แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์, จอร์จ ดับเบิลยู.เอช. บุช, และ บิลล์ คลินตัน) เป็นนักการทูตที่มีความสามารถ มีทักษะความชำนาญในการเจรจาจัดทำสนธิสัญญา หรือในการชักจูงโน้มน้าวให้เหล่าพันธมิตรประกาศสัดส่วนปริมาณการเข้ามีส่วนร่วมของพวกเขา ทว่าช่างน่าประหลาดใจนัก ที่แทบไม่มีผู้นำระดับโลกเอาเลย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกันหรือชาติอื่นๆ ก็ตามที ซึ่งมีศักยภาพในการควบคุมบงการทั้งมิติด้านเวลาและมิติด้านพื้นที่ของความเป็นมหาอำนาจระดับโลก --นั่นก็คือ สามารถควบคุมบงการความเชื่อมโยงระหว่างการปฏิบัติการต่างๆ ในปัจจุบัน กับผลลัพธ์ที่มักจะปรากฏขึ้นมาในเวลายาวไกลต่อไป ตลอดจนมีความสามารถแบบหยั่งรู้ขึ้นมาเอง ในการเข้ายึดกุมฉวยคว้าพลังต่างๆ ทั้งทางวัฒนธรรม, ทางเศรษฐกิจ, และทางการทหาร โดยที่ผลรวมของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็คือ ภูมิรัฐศาสตร์ การที่จะมีทักษะความชำนาญในการควบคุมบงการทั้ง 2 ส่วนนี้ได้ หมายถึงว่าจะต้องมองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างใต้ความสับสนของกระแสเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน รวมทั้งมีความเข้าใจในกระแสความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องลึกลงไปอีก รูต กับ เบรซินสกี้ นั้น ทั้งคู่ต่างมีความสามารถในการบงการใช้ประโยชน์จากช่วงขณะปัจจุบันเพื่อมาผลักดันผลประโยชน์ในระยะยาวของฝ่ายอเมริกัน โดยในเวลาเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ในระดับโลกไปด้วย (บ่อยครั้งทีเดียวที่เป็นการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นรากฐาน) สำหรับโอบามา ถึงแม้เมื่อมองจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่พรั่งพรูระดมเข้าใส่ สัมฤทธิผลความสำเร็จของเขาในห้องทำงานรูปไข่ที่ทำเนียบของเขาก็ดูราวกับถูกโถมทับจนหมดรูปหมดฟอร์มกระทั่งไม่มีอะไรเหลือหรอ อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้ว โอบามายังดูจะกำลังเดินตามรอยเท้าของ รูต และ เบรซินสกี้ โดยไม่ได้ถูกทิ้งหายไปไหน

เอลิฮู รูต: สถาปนิกผู้ออกแบบความเป็นมหาอำนาจของอเมริกัน

ทุกวันนี้ผู้คนดูจะลืมกันไปหมดแล้วว่า เอลิฮู รูต (Elihu Root) คือสถาปนิกตัวจริงผู้ออกแบบวางแผนให้อเมริกันเปลี่ยนแปลงผันผ่านจากชาติภาคพื้นทวีปผู้โดดเดี่ยว กลายมาเป็นผู้เล่นสำคัญรายหนึ่งบนเวทีโลก ในเวลาใกล้เคียงกับที่ เซอร์ ฮัลฟอร์ด แมคคินเดอร์ (Sir Halford Mackinder) กำลังขบคิดจินตนาการเกี่ยวกับโมเดลแบบใหม่สำหรับการศึกษาเรื่องอำนาจระดับโลกอยู่นั้นเอง รูตก็กำลังจัดวางโครงสร้างพื้นฐานเชิงสถาบันทั้งในสหรัฐฯและภายนอกประเทศ สำหรับการใช้อำนาจดังกล่าวในทางเป็นจริง

หลังจากทำงานอาชีพอย่างประสบความสำเร็จมา 30 ปี ด้วยการเป็นทนายความผู้เป็นตัวแทนทางกฎหมายให้แก่นายทุนนักอุตสาหกรรมโฉดชั่วเลวร้ายผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่สุด, กลุ่มทุนผูกขาดที่ละโมบคดโกงที่สุด, และกระทั่งนักการเมืองทรงอิทธิพลผู้ลือเลื่องฉาวโฉ่เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นของนิวยอร์กอย่าง วิลเลียม “บอสส์” ทวีด (William "Boss" Tweed) รูตก็ได้หันมาอุทิศช่วงเวลาที่เหลือแห่งชีวิตอันยืนยาวของเขา ให้แก่การปรับปรุงสร้างความทันสมัยแก่รัฐอเมริกัน ทั้งในฐานะรัฐมนตรีว่าการสงคราม (secretary of war ตำแหน่งรัฐมนตรีดูแลกิจการกองทัพในสมัยนั้น -ผู้แปล), รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ, วุฒิสมาชิก, และสุดท้ายคือเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม เขาไม่เพียงวางพื้นฐานออกแบบหน้าตาให้แก่การดำเนินนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯสำหรับศตวรรษที่กำลังจะมาถึงเท่านั้น แต่ยังแสดงบทบาทอันใหญ่โตเกินตัว ในการส่งอิทธิพลต่อรูปร่างลักษณะของประชาคมระหว่างประเทศที่กำลังก่อตัวขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเขาเป็นเพียงรัฐมนตรีคนหนึ่งของประเทศซึ่งในเวลานั้นยังเป็นมหาอำนาจระดับชายขอบเท่านั้น

ในฐานะที่เป็นทนายความมือกฎหมายคนสำคัญคนหนึ่ง รูตเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามุ่งพิทักษ์คุ้มครองเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและสิทธิของมลรัฐต่างๆ นั้น ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกลายเป็นการสร้างระบบราชการส่วนกลางของสหรัฐฯที่อ่อนแอโดยธรรมชาติ ไม่เหมาะสมเอาเสียเลยสำหรับการประกอบภารกิจร่วมมือร่วมใจกันแผ่ขยายอำนาจจักรวรรดิอเมริกันให้เลยพ้นไปไกลจากเขตแนวพรมแดนของตน เพื่อที่จะแปรเปลี่ยนรัฐซึ่งมีลักษณะเป็น “ผลงานประดิษฐ์สร้างขึ้นด้วยการนำเศษวัสดุมาปะติดปะต่อกัน” และสังคมที่ยังเต็มไปด้วยแตกแยกแห่งนี้ (เวลานั้นสังคมอเมริกันยังเต็มไปด้วยบาดแผลทางจิตใจจาก “สงครามกลางเมือง” ปี 1861-1865) ให้กลายเป็นมหาอำนาจระดับโลก รูตใช้เวลาประมาณเสี้ยวศตวรรษในการทำงานอย่างมุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์รวม 3 ประการ ซึ่งเกี่ยวร้อยยึดโยงกันอยู่ ได้แก่ การตะล่อมปรับเปลี่ยนรูปร่างลักษณะที่แบ่งแยกแตกเป็นเสี่ยงๆ ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ให้กลับกลายเป็นเครื่องมืออันทรงอำนาจบารมีสำหรับการแผ่ขยายออกไปสู่นอกประเทศ, การสร้างฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำของประเทศให้เห็นดีเห็นงามกับการดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบนักปฏิบัติการผู้กระตือรือร้น, และการสร้างธรรมาภิบาลระดับโลกรูปแบบใหม่ซึ่งเปิดกว้างให้วอชิงตันสามารถสร้างอิทธิพลแผ่บารมีได้

ในฐานะรัฐมนตรีการสงคราม (ปี 1899-1904) รูตได้ปฏิรูปโครงสร้างที่โบราณล้าหลังของกองทัพ ด้วยการจัดตั้งองค์กรเสนาธิการใหญ่ที่มีอำนาจรวมศูนย์, ก่อตั้งวิทยาลัยการสงครามแบบสมัยใหม่, และขยายการฝึกอบรมทางวิชาชีพแก่นายทหาร ด้วยการปรับเปลี่ยนแปรรูปเช่นนี้ กองทัพสหรัฐฯก็ได้เคลื่อนตัวออกไปไกลลิบจากการปฏิบัติภารกิจดั้งเดิมของตนซึ่งมีเพียงแค่การป้องกันชายฝั่งทะเลของอเมริกา และกลายเป็นกองกำลังอาวุธที่มีความคล่องตัวฉับไวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับภารกิจการแผ่ขยายออกไปยังต่างแดน -- ไม่ว่าจะเป็นในจีน, ฟิลิปปินส์, แคริบเบียน, ละตินอเมริกา, และสุดท้ายกระทั่งในยุโรปเองด้วย ในขณะที่สายตาของเขาจับจ้องอย่างมั่นคงไปที่การหาทางทำให้อเมริกาก้าวผงาดขึ้นมา รูตยังดำเนินการปกปิดการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อนต่างๆ ซึ่งบังเกิดขึ้นนอกเหนือจากความหฤโหดเหี้ยมเกรียมเป็นพิเศษของกองทัพอเมริกันในการกวาดล้างปราบปรามสร้างความสงบราบคาบขึ้นในฟิลิปปินส์

ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (ปี 1907-1909), วุฒิสมาชิก (ปี 1909-1915), และผู้แทนพิเศษประจำรัสเซีย (1917) รูตในตอนนั้นได้เป็นผู้นำการใช้ความพยายามทางการทูตอย่างไม่ยอมรามือละเลิก เพื่อทำให้สหรัฐฯปรากฏตัวมีบทบาทอย่างแท้จริงในประชาคมของประชาชาติต่างๆ เป็นครั้งแรก เพื่อผลักดันให้วอชิงตัน (ซึ่งในเวลานั้นยังคงอยู่ตรงชายขอบของการเมืองโลก โดยที่ศูนย์กลางนั้นอยู่ที่ยุโรป) เข้าสู่เกมแห่งการสำแดงอำนาจระดับโลก รัฐมนตรีต่างประเทศรูตได้เปิดฉากการตระเวนเยือนละตินอเมริกาอย่างชนิดที่ไม่เคยมีใครทำกันมาก่อน เมื่อปี 1906 ซึ่งทำให้ชนะใจได้รับความสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ในทวีปนั้น

ด้วยการหนุนหลังของสาธารณรัฐละติน 17 ชาติจากจำนวน 44 ชาติที่เข้าร่วมการประชุม วอชิงตันจึงมีอิทธิพลบารมีทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเพียงพอ ณ การประชุมสันติภาพกรุงเฮกครั้งที่ 2 (the Second Hague Peace Conference) ในปี 1907 จนสามารถผลักดันให้ที่ประชุมบรรลุข้อตกลงทางกฎหมายระหว่างประเทศอันมีขอบเขตกว้างกว้างฉบับแรก ในเรื่องเกี่ยวกับกฎของการทำสงคราม เพื่อให้เป็นสถานที่ตั้งของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) สถาบันเพื่อธรรมาภิบาลระดับโลกที่มีการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องเป็นแห่งแรกของโลก ซึ่งก็เป็นดอกผลที่ออกจากการประชุมสันติภาพกรุงเฮกคราวนั้น มหาเศรษฐี แอนดริว คาร์เนกี (Andrew Carnegie) ที่เป็นเพื่อนของรูต ได้ใช้จ่ายเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นเงินก้อนโตมากในยุคนั้น ในการสร้าง “พระราชวังสันติภาพ” (Peace Palace) อันโอ่อ่าสง่างามขึ้นที่กรุงเฮกในปี 1913 ปีถัดมา ด้วยฐานะที่เป็นประธานของ กองทุนการกุศลคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) (รูตดำรงตำแหน่งนี้ในช่วงปี 1910 ถึง 1925) รูตก็ได้ช่วยเหลือผลักดันให้มีการจัดตั้ง บัณฑิตสถานทางกฎหมายระหว่างประเทศแห่งกรุงเฮก (The Hague Academy of International Law) ขึ้นมา โดยตั้งอยู่ภายในพระราชวังสันติภาพ

เวลาเดียวกันนั้น เขายังสร้างความเป็นพันธมิตรอันใกล้ชิดกับสหราชอาณาจักร ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนสนธิสัญญาฉบับต่างๆ เพื่อแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาททางดินแดนทั้งหลายซึ่งได้สร้างความระหองระแหงให้แก่ความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับมหาอำนาจสำคัญที่สุดของโลกในขณะนั้นรายนี้ ตลอดช่วงใหญ่ๆ ของระยะเวลาประมาณ 100 ปีทีเดียว ความพยายามดังกล่าวทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1912 แม้กระทั่งเมื่อเกษียณอายุในตอนที่มีอายุ 75 ปี รูตก็ยังคงทำงานอยู่ในคณะกรรมการชุดหนึ่งของสันนิบาตชาติ (League of Nations) ซึ่งทำหน้าที่ดำเนินการจัดตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถาวร (Permanent Court of International Justice) ขึ้นมา เป็นการบรรลุตามวิสัยทัศน์ที่เขายึดถือมานานแล้ว ที่จะให้ประชาคมระหว่างประเทศเป็นที่ชุมนุมของรัฐอธิปไตยทั้งหลายซี่งปกครองดูแลกันด้วยหลักนิติธรรม

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีเหล่านี้ รูตยังใส่ใจกับการปลูกฝังให้ชนชั้นนำแถบอีสต์โคสต์ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองของประเทศ มีความสนใจสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศแบบยืนกรานแข็งกร้าว ผลของการสั่งสมความพยายามในเรื่องนี้ก็คือ ในปี 1919 เขาสามารถเป็นผู้นำของกลุ่มนักการเงิน, นักอุตสาหกรรม, และทนายความภาคบริษัท ซึ่งมาร่วมกันจัดตั้ง “สภาว่าด้วยความสัมพันธ์กับต่างประเทศ” (Council on Foreign Relations) ขึ้นที่นครนิวยอร์ก ซึ่งไม่ช้าไม่นานก็กลายเป็นเวทีทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศในการสร้างฉันทามติขึ้นในหมู่สาธารณชนเพื่อผลักดันหนุนหลังนโยบายการต่างประเทศแบบแผ่ขยายอำนาจอิทธิพล เขายังเที่ยวบ่มเพวกผู้ชำนาญการทางวิชาการตามมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ ใช้ความเชี่ยวชาญของพวกเขาในการวางกรอบและสนับสนุนแนวความคิดด้านนโยบายการต่างประเทศของเขา กล่าวโดยรวมแล้ว รูตได้หล่อหลอมสังคมอเมริกันขึ้นมาใหม่ โดยนำเอาเงินทอง, อิทธิพล, และภูมิปัญญามาผนึกเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยกันประคับประคองนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯให้ต่อเนื่องไปในช่วงศตวรรษถัดจากนั้น

ซบิกนิว เบรซซินสกี้: ผู้ทำลายจักรวรรดิโซเวียต

หลังจากสหรัฐฯผ่านระยะเวลาอันยาวนานแห่งการแสดงความเป็นผู้นำระหว่างประเทศที่เฉยชาไม่กระตือรือร้น ก็มาถึงช่วงที่ จิมมี่ คาร์เตอร์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ซึ่งการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศได้ตกอยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลที่ถูกวงการต่างๆ ประเมินให้ค่าเอาไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก บุคคลผู้นั้นคือ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ ซบิกนิว เบรซซินสกี้ เขาเกิดที่โปแลนด์ในตระกูลขุนนาง และอพยพมาศึกษาเล่าเรียนและตั้งรกรากในอเมริกา เขาเป็นศาสตราจารย์ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นผู้ทำการศึกษาด้วยตนเองในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เขาเป็นผู้ที่โดดเด่นเหนือกว่าใครทั้งหมดในบรรดาสาวกทางภูมิปัญญาของเซอร์ฮัลฟอร์ด แมคคินเดอร์ เบรซซินสกี้อาศัยทั้งการลงมือกระทำและทั้งการศึกษาวิเคราะห์ ทำให้แนวความคิดของแมคคินเดอร์ในเรื่องที่ว่าดินแดนยูเรเชีย (Eurasia) คือเกาะแห่งโลก (world island) และดินแดนใจกลางภายใน (interior heartland) อันกว้างใหญ่ของยูเรเชียคือ “แกน” (pivot) แห่งอำนาจของโลก กลายมาเป็นแนวความคิดของเขาเอง เขาจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญช่ำชองเป็นพิเศษในการประยุกต์ใช้ภาษิตอันมีชื่อเสียงของเซอร์ฮัลฟอร์ดที่ว่า “ผู้ใดปกครองยุโรปตะวันออก คือผู้บงการบังคับบัญชาเกาะแห่งโลก ผู้ใดปกครองเกาะแห่งโลก คือผู้บงการบังคับบัญชาโลก” (“Who rules East Europe commands the Heartland; Who rules the Heartland commands the World-Island; Who rules the World-Island commands the world.”)

เบรซซินสกี้อาศัยงบประมาณการปฏิบัติการปิดลับของซีไอเอมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ มาขับดันอิสลามแนวคิดรุนแรงจากอัฟกานิสถานให้แผ่ลามเข้าไปใน “ดินแดนใจกลาง” ภูมิภาคเอเชียกลางส่วนที่เป็นของโซเวียต และดึงลากมอสโกให้เข้าสู่สงครามอัฟกานิสถานซึ่งสูบเลือดสูบเนื้อจนหมดแรงหมดกำลังเป็นเวลานานถึงสิบปี จนทำให้รัสเซียอ่อนแอกะปลกกะเปลี้ย และเปิดโอกาสให้ยุโรปตะวันออกสามารถทะลวงหลุดออกจากจักรวรรดิโซเวียตได้ในที่สุด ด้วยการขบคิดคาดคำนวณอย่างชนิดไม่มีทางเลือดเย็นไปกว่านี้แล้ว เขาแสดงความเข้าอกเข้าใจและเฟ้นหาเหตุผลความชอบธรรมมาอธิบายความทุกข์ทรมานที่ไม่มีการเล่าขานตลอดจนความเจ็บปวดอย่างไม่อาจจินตนาการได้ของมนุษย์ ซึ่งยุทธศาสตร์ของเขาสร้างขึ้นมาในรูปของพื้นที่อันกว้างขวางที่ถูกทำลายล้าง, ผู้คนเป็นล้านๆ ซึ่งนโยบายของเขาถอนดึงลากออกจากหมู่บ้านที่เคยพำนักอาศัยแต่ครั้งบรรพบุรุษ และเปลี่ยนไปอยู่ในฐานะเป็นผู้ลี้ภัย, ตลอดจนชาวอัฟกันจำนวนนับไม่ถ้วนที่ต้องตายและได้รับบาดเจ็บ เบรซซินสกี้ปฏิเสธไม่ยอมรับความเสียหายในระยะยาวที่เกิดขึ้นมา โดยระบุว่านั่นเป็นเพียง “ชาวมุสลิมบางส่วนที่ต้องนำมาเป็นโครงค้ำสำหรับก้าวเดินต่อไป” ความสูญเสียเหล่านี้ไม่มีราคาค่างวดอะไรเมื่อเปรียบเทียบกับความสำคัญของการได้เข้าโจมตีโดยตรงในดินแดนใจกลางยูเรเชีย เพื่อปลดปล่อยยุโรปตะวันออก ซึ่งอยู่ห่างไกลออกมาครึ่งทวีป ให้เป็นอิสรเสรี และทำลายจักรวรรดิโซเวียตจนแหลกลาญ และผลลัพธ์เหล่านี้ก็ทำให้เบรซซินสกี้สมควรที่จะได้รับยอมรับให้เป็นแกรนด์มาสเตอร์แห่งภูมิศาสตร์รายหนึ่งในแวดวงการเมืองแบบยึดถือสภาพความเป็นจริงอย่างอำมหิตไร้ความปรานีโดยไม่แยแสอุดมการณ์หลักศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น (ต้องขอเตือนความจำของคุณๆ กันสักเล็กน้อย พวก “ชาวมุสลิมที่ต้องนำมาเป็นโครงค้ำสำหรับก้าวเดินต่อไป” เหล่านี้นี่เอง ที่ปัจจุบันกำลังก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมากมายมหาศาล ทั้งในรูปของการผงาดขึ้นมาของกลุ่มอัลกออิดะห์, กรณี 9/11, สงครามอัฟกันครั้งที่ 2 ของอเมริกา, ตลอดจนความไม่สงบของมหาตะวันออกกลาง ทั้งนี้จะต้องขอบคุณการเติบใหญ่ขยายตัวของลัทธิสุดโต่งอิสลามิสต์ ซึ่งเบรซซินสกี้เป็นผู้ที่นำมากล่อมเกลาเลี้ยงดูตั้งแต่ทีแรก)

ในปี 1998 ถึงแม้อยู่ในวัยเกษียณอายุแล้ว แต่เบรซซินสกี้ก็ได้นำเอาทฤษฎีของเซอร์ฮัลฟอร์ดมาประยุกต์ใช้อีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้อยู่ในรูปหนังสือที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “The Grand Chessboard” ซึ่งเป็นข้อเขียนทางภูมิรัฐศาสตร์ว่าด้วยศักยภาพของอเมริกาในการขยายความเป็นเจ้าโลกของตนให้ยืนยาวออกไป ถึงแม้วอชิงตันในขณะนั้นซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้า 9/11 ยังกำลังรู้สึกพึงพอใจกับแสงเรืองรองของความยิ่งใหญ่ที่ตนเองเพิ่งช่วงชิงชัยมาได้ใหม่ๆ หมาดๆ จนมีฐานะเป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวของโลก แต่เขากลับสามารถจินตนาการต่อไปได้แล้วถึงความเครียดเค้นทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะต้องสำแดงออกมาให้เห็น และบ่อนทำลายฐานะดังกล่าวของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้สหรัฐฯในเวลานั้นดูเหมือนมหายักษ์ใหญ่ที่กำลังยืนคร่อมโลกทั้งใบเอาไว้ แต่ยูเรเชียก็ยังคงเป็น “สนามการแข่งขันที่สำคัญที่สุดของโลก ... โดยที่การมีอำนาจครอบงำทั่วทั้งมหาทวีปยูเรเชีย ถือเป็นพื้นฐานแกนกลางสำหรับความเป็นหมายเลขหนึ่งของโลก”

“อัครมหาทวีป” (megacontinent) ยูเรเซียนี้ เบรซซินสกี้ตั้งข้อสังเกตว่า “มีขนาดใหญ่โตเกินไป, มีประชากรมากเกินไป, มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมมากเกินไป, และประกอบด้วยรัฐที่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองและมีความทะเยอทะยานซึ่งติดตัวมาตั้งแต่ในประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมากเกินไป จนเกินกว่าที่จะยินยอมเชื่อฟังกระทำตาม แม้กระทั่งมหาอำนาจแห่งโลกผู้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างที่สุดและทรงอำนาจทางการเมืองอย่างโดดเด่นชัดเจนที่สุด” เขาทำนายว่า หลังจากที่มีฐานะครอบงำเหนือ “กระดานหมากรุกแห่งยูเรเชียที่อยู่ในรูปทรงแปลกประหลาด –โดยแผ่ขยายตั้งแต่ลิสบอนไปจนถึงวลาดิวอลสต็อก” มาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษแล้ว วอชิงตันจะรักษาฐานะดังกล่าวเอาไว้ต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อยังคงสามารถ “เกาะคอนบนชายขอบด้านตะวันตก” เอาไว้ได้อย่างไม่ถูกใครท้าทาย ขณะที่ “พื้นที่ตรงกลาง” อันกว้างใหญ่ไพศาลก็จะต้องไม่กลายเป็น “ตัวตนที่เป็นหนึ่งเดียวซึ่งแสดงความแข็งกร้าวยืนกราน” ส่วนทางด้านปลายตะวันออกของทวีปโลกก็จะต้องไม่เกิดการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวในวิถีทางที่อาจนำไปสู่ “การขับไสอเมริกาออกไปจากฐานนอกประเทศทั้งหลายของตน” หากเงื่อนไขสำคัญยิ่งยวดเหล่านี้ข้อใดๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เบรซซินสกี้ก็กล่าวเตือนในแบบศาสดาพยากรณ์ว่า “ผู้ที่มีศักยภาพจะกลายเป็นปรปักษ์ของอเมริกา ก็อาจจะก้าวผงาดขึ้นมาในช่วงใดช่วงหนึ่ง”

บารัค โอบามา: ผู้ปกป้องความเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ

เวลาผ่านไปยังไม่ทันถึงสิบปี จีนก็ได้ก้าวผงาดขึ้นมาท้าทายการควบคุมยูเรเชียของอเมริกา และดังนั้นจึงคุกคามฐานะความเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกของวอชิงตันอีกด้วย ขณะที่กองทัพสหรัฐฯกำลังติดหล่มลึกอยู่ในตะวันออกกลาง ปักกิ่งก็เริ่มต้นอย่างเงียบๆ ในการทำงานเพื่อผนึกรวม “พื้นที่ตรงกลาง” อันกว้างใหญ่ของยูเรเชียให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมๆ กับที่เตรียมการสำหรับผลักใส “ฐานนอกประเทศทั้งหลาย” ของอเมริกา

ในตอนที่ บารัค โอบามา ก้าวเข้าสู่ห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ของทำเนียบขาวเมื่อปี 2009 นั้น ได้ปรากฏสัญญาณแรกๆ ของการท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์อันเคร่งเครียดจริงขึ้นมาแล้ว ซึ่งดูเหมือนมีแต่ประธานาธิบดีผู้นี้และพวกที่ปรึกษาใกล้ชิดที่สุดของเขาเท่านั้นที่ตระหนักถึงเรื่องนี้ ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาออสเตรเลียเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2011 โอบามาบอกว่า “ขอบอกกล่าวให้หมดข้อสงสัยกันไปเลยว่า ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแห่งยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 สหรัฐอเมริกาก็จะยังคงเข้าไปอยู่ในภูมิภาคนี้ต่อไป” ภายหลัง 2 สงครามอันยืดเยื้อในอิรักและในอัฟกานิสถาน “ซึ่งทำให้เราต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอย่างแพงลิ่ว ทั้งในรูปของเลือดเนื้อทั้งในรูปของทรัพย์สินเงินทอง” เขากล่าว “สหรัฐฯกำลังหันความสนอกสนใจของเรามาสู่ศักยภาพอันกว้างขวางของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” ซึ่งเป็น “ภูมิภาคที่เจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดของโลก – และเป็นบ้านของเศรษฐกิจโลกถึงกว่าครึ่งหนึ่ง” แผนการริเริ่มของเขาที่จะจัดส่งทหารสหรัฐฯเพียงแค่ 2,500 คนเข้าไปประจำการในออสเตรเลีย ดูเหมือนจะเป็นการชำระค่าดาวน์ก้อนเล็กๆ ในการ “ตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่ผ่านการขบคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วน” ของเขา ที่ต้องการจะกลายเป็น “ประธานาธิบดีแปซิฟิก” คนแรกของอเมริกา และความเคลื่อนไหวเช่นนี้ก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเสียงหัวเราะเยาะเย้ยก่อนเวลาอันสมควรกันอย่างใหญ่โต

อีก 4 ปีต่อมา นักวิจารณ์คนหนึ่งของซีเอ็นเอ็น จะยังคงเรียกขานความเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็น “การปักหมุดที่ไปไม่ถึงไหนของโอบามา” แม้กระทั่ง ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria) นักวิจารณ์ทางด้านนโยบายการต่างประเทศผู้มีประสบการณ์สูง ก็ยังออกมาตั้งคำถามเมื่อตอนต้นปี 2015 ว่า “เกิดอะไรขึ้นกับนโยบายปักหมุดกลับสู่เอเชีย?” โดยในเวลาที่ตอบคำถามของเขาเอง ซาคาเรียระบุว่าโอบามายังคงตกหล่มจมปลักอยู่ในตะวันออกกลาง และแผนการที่เป็นใจกลางของการปักหมุดดังกล่าว ซึ่งได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership ใช้อักษรย่อว่า TPP) ในเวลานั้นทำท่าว่าจะประสบความพ่ายแพ้ในรัฐสภาสหรัฐฯอีกด้วย

แต่แล้วท่ามกลางความตกตะลึงของเหล่านักวิพากษ์วิจารณ์ตัวเขา ในเดือนท้ายๆ แห่งสมัยการเป็นประธานาธิบดีของเขา ตั้งแต่อิหร่านไปจนถึงคิวบา ตั้งแต่พม่าไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก โอบามาได้เปิดเผยตนเองให้เห็นว่าเขาเป็นนักยุทธศาสตร์ชาวอเมริกันผู้มีศักยภาพความสามารถที่จะจัดวางงานพื้นฐานสำหรับให้สหรัฐฯรักษาฐานะครอบงำโลกเอาไว้ได้ต่อไปกระทั่งล่วงเข้าสู่ช่วงปีลึกๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ในระยะเวลา 16 เดือนสุดท้ายแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา ด้วยความกล้าหาญทรหดอดทนและความโชคดีเล็กน้อย บวกกับการเร่งงานการทูตขั้นสุดท้าย เขาก็สามารถผลักดันจนมีการทำสัญญานิวเคลียร์กับอิหร่านซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามความขัดแย้งที่สูบเลือดสูบเนื้อจนสิ้นเรี่ยวแรงในตะวันออกกลางขึ้นมาอีกครั้ง เขายังได้ชัยชนะทำให้รัฐสภายอมรับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเดินหน้าทำการเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนภูมิภาคแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership ใช้อักษรย่อว่า TTIP) ด้วยผลงานเหล่านี้แหละ โอบามาก็เพิ่งสร้างหลักประกันให้สหรัฐฯสามารถเสริมฐานะความเป็นเจ้าของโลกที่กำลังโงนเงน ให้กลับเข้มแข็งขึ้นมาอย่างสำคัญทีเดียว

โดยไม่ต้องลงไปพูดถึงรายละเอียด เวลานี้ชาติทรงอำนาจที่สุดทั้ง 2 ของโลก ซึ่งได้แก่ จีน กับ สหรัฐฯ ดูเหมือนจะได้พัฒนาวางแผนยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ขัดแย้งกันออกมา เพื่อชี้นำการต่อสู้ครองความเป็นมหาอำนาจระดับโลกของพวกเขา ปักกิ่งจะประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เอเชีย, แอฟริกา, และยุโรป รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเข้าสู่ “เกาะแห่งโลก” หรือว่าวอชิงตันจะเดินตามยุทธศาสตร์ของโอบามาในการตัดมหาแผ่นดินนี้ให้แยกตัวออกเป็นเสี่ยงๆ ตามแกนหลักของตน โดยผ่านข้อตกลงการค้าข้ามมหาสมุทร เหล่านี้จะยังไม่เป็นที่ชัดเจนจนกระทั่งเวลาผ่านไปอีก 1 หรือ 2 ทศวรรษ

นอกจากนั้นเรายังไม่สามารถกล่าวได้ว่า ผลลัพธ์ของเกมการแข่งขันอันใหญ่โตมหึมานี้ จะตัดสินกันโดยผ่านการแข่งขันเชิงพาณิชย์ที่มองแทบไม่เห็น หรือโดยผ่านดรามาอันรุนแรงกว่านั้น ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในการเปลี่ยนผ่านแห่งจักรวรรดิครั้งท้ายสุดของประวัติศาสตร์ที่พอจะนำมาเปรียบเทียบกันได้ อันได้แก่การเป็นศัตรูกันอย่างยืดเยื้อระหว่าง “ระบบทวีป” (“continental system”) ของนโปเลียน กับยุทธศาสตร์การค้าทางทะเลของอังกฤษ ในช่วงเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 กระนั้นก็ตาม เราก็กำลังจะเริ่มต้นมองเห็นขนาดขอบเขตอันกว้างขวางใหญ่โตของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์แห่งยุคสมัย ซึ่งน่าที่จะเป็นตัวกำหนดโชคชะตาของโลกในอีกหลายๆ ทศวรรษข้างหน้า ของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งยังคงเยาว์วัยยิ่งนี้

อัลเฟรด ดับเบิลยู แมคคอยเป็นนักเขียนประจำของบล็อก “ทอมดิสแพตช์” (TomDispatch) เป็นศาสตราจารย์แฮริงตนทางด้านประวัติศาสตร์ (Harrington Professor of History) ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) เขาเขียนหนังสือเอาไว้จำนหลายเล่ม โดยเล่มล่าสุดคือ Torture and Impunity: The U.S. Doctrine of Coercive Interrogation และยังเป็นบรรณาธิการร่วมของหนังสือเรื่อง Endless Empire: Europe’s Eclipse, Spain’s Retreat, America’s Decline

(จากบล็อก TomDispatch.com)


กำลังโหลดความคิดเห็น