xs
xsm
sm
md
lg

‘ไอเอส’โจมตีหัวใจของยุโรปอย่าง ‘ปารีส’ ขณะตนเองตกอยู่ในวงล้อม

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Under siege, IS struck at the heart of Europe
By Francesco Sisci
18/11/2015

กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) กำลังถูกปิดล้อมถูกโจมตีทั้งทางชาวเคิร์ด ซึ่งหนุนหลังโดยอเมริกา และจากรัสเซีย ซึ่งสนับสนุนกองกำลังชาวซีเรียที่จงรักภักดีต่อประธานาธิบดี บาชาร์ อัล- อัสซาด ตลอดจนพวกอาสาสมัครจากอิหร่าน การที่พวกเขาก่อการโจมตีแบบผู้ก่อการร้ายในกรุงปารีส เป็นการเปิดโปงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความอ่อนแอเช่นนี้

การโจมตีแบบผู้ก่อการร้ายในกรุงปารีส เปิดโปงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความอ่อนแอของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ซึ่งปัจจุบันควบคุมพื้นที่ขนาดเท่าสหราชอาณาจักร ตรงระหว่างซีเรียกับอิรักเอาไว้ เมื่อมองจากเปลือกนอกแล้ว การกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนเช่นนี้คือความพยายามของไอเอส ที่จะข่มขวัญฝรั่งเศสและยุโรป อีกทั้งทำให้พวกเขาหวาดกลัวจนไม่กล้าเข้าไปแทรกแซงยุ่งเกี่ยวในตะวันออกกลาง

เหตุโจมตีคราวนี้ยังชวนให้นึกไปถึงการโจมตีก่อการร้ายในกรณี 11 กันยายน 2001 ที่สหรัฐฯ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปารีสเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น มีความแตกต่างจากการโจมตี 9/11 ซึ่งพวกอัลกออิดะห์ กระทำต่อนครนิวยอร์ก

สหรัฐฯเมื่อ 14 ปีก่อนนั้นยังไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันอยู่ในอัฟกานิสถาน อีกทั้งไม่ได้มีท่าทีต้องการกระทำเช่นนั้นด้วย แต่พวกอัลกออิดะห์ที่กำลังฮึกเหิม รู้สึกถึงความเข้มแข็งของตนเอง และต้องการพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยการเปิดฉากทำ “สงครามศักดิ์สิทธิ์” กับฝ่ายตะวันตก โดยพุ่งเป้าหมายไปที่ชาติซึ่งทรงอำนาจที่สุด ซึ่งได้แก่สหรัฐอเมริกา

สำหรับคราวนี้ ไอเอสกำลังถูกปิดล้อม โดยถูกโจมตีทั้งทางชาวเคิร์ด ซึ่งหนุนหลังโดยอเมริกา, จากรัสเซีย ซึ่งสนับสนุนกองกำลังชาวซีเรียที่จงรักภักดีต่อ (ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-) อัสซาด ตลอดจนพวกอาสาสมัครจากอิหร่าน

เมื่อเครื่องบินทั้งของอเมริกัน, รัสเซีย, และฝรั่งเศส เฝ้าถล่มใส่เป้าหมายต่างๆ ของไอเอสอย่างเป็นระบบภายหลังการเข่นฆ่าอย่างหฤโหดในปารีส กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้ก็พบว่าตนเองต้องกลายเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างแทบโงหัวไม่ขึ้น แม้กระทั่งกองกำลังอาวุธของตุรกีก็ยังกำลังพุ่งเป้าเล่นงานพวกเขา และมีประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้นซึ่งดูเหมือนตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะเข้าร่วมการต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย

ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว บางทีสิ่งที่เพิ่มความกล้าให้แก่ไอเอส จนเปิดฉากทำการโจมตีปารีส ก็คือการที่มอสโกไม่มีความเด็ดขาดที่จะลงมือตอบโต้ ภายหลังรายงานข่าวกรองจากสหรัฐฯและอิสราเอลชี้ไปที่ไอเอสว่า เป็นผู้กระทำการระเบิดเครื่องบินแอร์บัส 321-200 ของสายการบินพลเรือน “เมโทรเจ็ต” ของรัสเซีย จนร่วงโหม่งโลกขณะบินเหนือทะเลทรายไซนายของอียิปต์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม สังหารผู้โดยสารและลูกเรือยกลำทั้ง 224 คน

เป็นเวลาหลายวันทีเดียวที่รัสเซียเฝ้าเปลี่ยนความคิดเห็นของตนในกรณีเครื่องบินโดยสารของเมโทรเจ็ตนี้ กว่าที่ลงท้ายจะสรุปออกมาด้วยคำแถลงยืนยันว่า เป็นไปได้ที่กรณีเป็นฝีมือการปฏิบัติการของไอเอส

มอสโกมีเหตุผลของตนเองหลายๆ ประการสำหรับการรีรอไม่ออกมาเปิดเผยบทบาทของไอเอสในกรณีเครื่องบินตกคราวนี้ ถ้ารัสเซียยอมรับว่าเครื่องบินโดยสารลำนี้ตกเพราะฝีมือการโจมตีของผู้ก่อการร้าย ก็จะต้องถูกบีบคั้นกดดันให้ต้องส่งทหารเพิ่มเข้าไปในรัสเซีย และต้องเข้าเกี่ยวข้องพัวพันกับสงครามขนาดใหญ่ ซึ่งจะสูบเอาทรัพยากรของแดนหมีขาวไปจนเหือดแห้ง แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งสงครามอัฟกานิสถานในทศวรรษ 1970

ยิ่งกว่านั้น การเปิดการรุกรบขนาดใหญ่เช่นนั้น อาจจะกระตุ้นให้ไอเอสทำการโจมตีก่อการร้ายในรัสเซีย ในทำนองเดียวกับที่เพิ่งกระทำไปในปารีส

อันที่จริง รัสเซียได้เคยต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้ายมาแล้วในระหว่างสงครามที่แคว้นเชชเนีย อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นมันเป็นประเด็นซึ่งโยงใยโดยตรงกับบูรณภาพแห่งดินแดนของรัสเซีย เนื่องจากชาวเชชเนียต้องการที่จะแยกตัวออกไปจากรัสเซีย

ถ้ารัสเซียล้มเหลวไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นต่อไอเอส ภายหลังจากที่สามารถวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินโดยสารของสายการบินหมีขาวตกแล้ว มอสโกก็จะถูกมองว่าอ่อนแอ ทำให้รัสเซียต้องตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในทางนโยบายอย่างเลวร้ายขึ้นไปอีก

บางทีในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ดีที่สุดซึ่งมอสโกควรทำอาจจะเป็นการรอคอยโดยสายตาจับจ้องไปยังสิ่งที่ฝรั่งเศสและยุโรปจะกระทำ ภายหลังการโจมตีปารีสของกลุ่มรัฐอิสลามในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ความไม่เด็ดเดี่ยวของรัสเซียหลังจากเครื่องบินโดยสารถูกวางระเบิด อาจสร้างความมั่นใจให้แก่ไอเอสว่า พวกเขาสามารถเปิดการโจมตีใส่ฝรั่งเศสได้ การโจมตีนี้ยังอยู่ในช่วงจังหวะเวลาเดียวกับที่ฝรั่งเศสมีแผนการจัดส่งเรือบรรทุกเครื่องบินของตนไปยังซีเรียด้วย

ในขณะที่กำลังสูญเสียพื้นที่ไปเรื่อยๆ และต้องดิ้นรนอย่างหนักในทุกๆ แนวรบ ไอเอสจึงต้องการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า ตนเองเป็นพลังคุกคามที่ไม่อาจมองข้ามได้ แม้กระทั่งในขณะที่ตนเผชิญภัยคุกคามที่จะถูกกวาดล้างถูกทำลายในซีเรียและอิรัก ไอเอสต้องการโจมตีใส่หัวใจของยุโรปและหวังว่าจะจุดชนวนให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างวุ่นวายเสียขวัญจากยุโรป ซึ่งนั่นจะช่วยเหลือเอื้อประโยชน์แก่การต่อสู้ของรัฐอิสลาม

พฤติกรรมในช่วงหลังๆ ของไอเอส ยังสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า รากเหง้าของกลุ่มนี้มีความผิดแผกแตกต่างจากรากเหง้าของอัลกออิดะห์

อัลกออิดะห์รุ่งเรืองขึ้นมาได้ ก็เพราะมีช่วงเวลาอยู่หลายปีทีเดียวที่ไม่มีใครเลยในโลกตะวันตกพินิจพิจารณากลุ่มนี้อย่างเอาจริงเอาจัง

อย่างไรก็ตาม นายทหารยศพันเอก 2 คนในกองทัพจีน คือ เฉียว เหลียง (Qiao Liang) กับ หวัง เซียงสุ่ย (Wang Xiangsui) ได้ระบุถึงอันตรายอันใหญ่หลวงที่จะเกิดจากอัลกออิดะห์ เอาไว้ในหนังสือเมื่อปี 1999 เรื่อง “War Beyond Limits” ของพวกเขา

ภายหลังกรณี 9/11 อัลกออิดะห์ถูกขับไล่ออกไปจากอัฟกานิสถานอย่างง่ายดาย ภายใต้บรรยากาศที่กลุ่มนี้ตกอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง หากอเมริกาหยุดยั้งการแทรกแซงของตนหลังจากอัฟกานิสถาน และไม่ได้เข้าไปในอิรัก หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะการเข้าไปแทรกแซงของตนอย่างฉลาดหลักแหลมแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ก็อาจจะแตกต่างออกไปอย่างชนิดหนังคนละม้วน

สำหรับไอเอสนั้นไม่เหมือนกับอัลกออิดะห์ พวกเขารุ่งเรืองขึ้นมาได้ในสภาวการณ์ที่พวกผู้เล่นรายต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีวาระทางการเมืองที่ขัดแย้งกัน ก่อนหน้าจะเกิดการปฏิวัติอิหร่าน ไปจนกระทั่งถึงช่วงกลางๆ ของยุคสงครามเย็น นั่นคือกระทั่งถึงปลายทศวรรษ 1970 เมื่อมองกันในทางพฤตินัยแล้ว ตุรกีกับอิหร่านยืนอยู่ข้างเดียวกับอิสราเอล ส่วนพวกประเทศอาหรับที่ได้รับความสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตในยุคนั้น ต่างคัดค้านต่อต้านอิสราเอล ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ

อีก 30 ปีต่อมาและภายหลังช่วงระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ฝ่ายตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้าไปในการเมืองของตะวันออกกลาง สถานการณ์ก็ได้เกิดการพลิกผันอย่างแรง เวลานี้ตุรกีกับอิหร่านต่างมีวาระในการต่อต้านอิสราเอล โดยพื้นฐานแล้วทั้งคู่ต่างต้องการฟื้นฟูมรดกแห่งการเป็นจักรวรรดิใหญ่ในภูมิภาคแถบนี้ในอดีตที่ผ่านมา อิหร่านนั้นให้เงินทองและอาวุธแก่ชาวชีอะห์และพวกที่มิใช่สุหนี่ในภูมิภาคนี้ ผู้ซึ่งแสดงตนเป็นตัวแทนให้แก่ความทะเยอทะยานของเตหะราน

การวางตัวเป็นฝ่ายรุกเช่นนี้ ยังมีแรงกระตุ้นจากภัยคุกคามอันมองเห็นอยู่รำไรที่ว่า “การปฏิวัติดอกมะลิ” (Jasmine revolution) หลังจากสามารถโค่นล้มระบอบปกครองอัสซาดในซีเรียได้สำเร็จแล้ว จะเคลื่อนตัวต่อมายังอิหร่าน มันจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่เตหะรานจะคิดว่า เป็นการดีกว่าที่จะต่อสู้การปฏิวัติดอกมะลิตั้งแต่ที่ยังอยู่ในซีเรีย แทนที่จะปล่อยให้มันลามเข้ามาจนถึงหลังบ้านของตนแล้ว

สำหรับตุรกีนั้น ในเวลาเดียวกับที่อิหร่านหนุนหลังชาวชีอะห์ ตุรกีก็สวมใส่ชุดมหากาหลิบของชาวสุหนี่ และพยายามผลักดันให้ฝ่ายอิหร่านถอยกลับไป ขณะที่มองหาช่องทางสร้างเขตอิทธิพลของตนในภูมิภาคขึ้นมาใหม่

ทางด้านประเทศอาหรับทั้งหลาย ถึงแม้มีการกินแหนงแคลงใจกันและกัน แต่ก็ร่วมไม้ร่วมมือกับอิสราเอล ซึ่งเสนอให้การคุ้มครองพวกเขาจากการคุกคามของทั้งชาวเติร์กและชาวอิหร่าน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ จึงมีบ่อยครั้งที่ปาเลสไตน์กลายเป็นจุดคุกรุ่นที่ทั้งอิหร่านและตุรกีต่างอาศัยใช้โหมให้เพลิงลุกโชน เพื่อผลักดันวาระซ่อนเร้นของพวกเขาเอง

ในส่วนของสหรัฐฯนั้นมีความสนอกสนใจในน้ำมันของภูมิภาคแถบนี้ลดน้อยลง หลังจากที่เคยเป็นจุดโฟกัสความใส่ใจของวอชิงตันมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แถมกำลังถอยห่างออกมาจากตะวันออกกลางด้วยซ้ำ ทว่าทางรัสเซียกลับหวนกลับไปสู่เกมหมากกระดานเกมเดิมนี้อีกครั้งหนึ่ง แดนหมีขาวต้องการที่จะทำแต้มในกรณียูเครนซึ่งยังอยู่ในภาวะสับสน, ต้องการที่จะจำกัดควบคุมอิหร่าน (ผู้กำลังสนับสนุนอัสซาด และรัฐที่วุ่นวายยับเยินของเขาในซีเรีย), และต้องการที่จะพิทักษ์รักษาฐานทัพเรือที่ตนมีอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ไอเอสมีความสามารถที่จะเชือดเฉือนพื้นที่ทางการเมืองชิ้นงามจากสภาวการณ์อันสลับซับซ้อนเช่นนี้ แต่ถ้าหากมีการทำข้อตกลงทางการเมืองในภูมิภาคขึ้นมาได้สำเร็จแล้ว ไอเอสก็จะสูญหายไป การตกลงกันดังกล่าวจะทำให้บรรลุสิ่งที่การรณรงค์ทิ้งระเบิดใดๆ ก็ทำไม่สำเร็จ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีแง่มุมของจีนต่อสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ และไม่ใช่เพียงแค่ทัศนะมุมมองอันดูห่างไกลจากแผนการเส้นทางสายไหมสายใหม่ที่ฝ่ายจีนกำลังพยายามผลักดันเท่านั้นด้วย

กองเพลิงในตะวันออกกลางยังกำลังกระพือความโกรธเกรี้ยวและความเกลียดชังขึ้นในภูมิภาคซินเจียงที่ไร้ความสงบของจีน ที่นี่เองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีผู้ก่อการร้ายจำนวนหนึ่งซึ่งก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ ในในดินแดนอันไกลโพ้น ได้ก่อการเข่นฆ่าอย่างบ้าคลั่งจนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 50 คน ทั้งนี้ตามรายงานหลายๆ ชิ้นที่เพิ่งปรากฏออกมา

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ในตะวันออกกลาง และดินแดนในเอเชียกลางของจีนนั้น เวลานี้ได้มีการโยงใยเกี่ยวพันกันอย่างยากที่จะแยกออกเสียแล้ว

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไชน่าเหรินหมิน (China Renmin University) เป็นเจ้าของคอลัมน์ “ซิโนกราฟ” (Sinograph) ของเอเชียไทมส์ และเคยเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันอิตาลี ลา สตัมปา (La Stampa) และผู้สื่อข่าวประจำกรุงปักกิ่งให้แก่ อิล โซเล ดิ 24 โอเร (Il Sole di 24 Ore) เขาเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าโปรแกรมบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตสถานทางสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) เขาเขียนหนังสือว่าด้วยจีนมาแล้ว 8 เล่ม และได้รับเชิญเป็นนักวิจารณ์จากทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) อยู่บ่อยครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น