เอเจนซีส์ - ผู้นำออสเตรเลียออกโรงปกป้องสัญญาให้บริษัทจีนรับสัมปทานเช่าท่าเรือพาณิชย์และการทหารในเมืองดาร์วิน แม้สื่อรายงานว่า “โอบามา” ฉุนหนักก็ตาม ขณะเดียวกัน กระทรวงคลังแดนจิงโจ้กลับขัดขวางแผนเปิดประมูลขายบริษัทไร่ปศุสัตว์ขนาดใหญ่มหึมาให้ต่างชาติ ซึ่งมีนายทุนจีนร่วมยื่นซอง โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง
เดือนตุลาคมที่ผ่านมา แลนบริดจ์ กรุ๊ป ของนักธุรกิจพันล้านชาวจีน เย่ เฉิง ได้รับการประกาศว่า เป็นผู้ชนะการประมูลสัญญาสัมปทานดำเนินการท่าเรือในเมืองดาร์วิน ของออสเตรเลีย มูลค่า 506 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (362.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ทว่า สื่อออสซี่รายงานว่า ระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี20) ที่ตุรกีเมื่อกลางเดือนนี้ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ แสดงความไม่พอใจที่นายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ ของออสเตรเลีย ไม่แจ้งให้ตนทราบเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากดาร์วินเป็นศูนย์แห่งหนึ่งของนาวิกโยธินอเมริกัน ซึ่งสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปประจำการ ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับแดนจิงโจ้ รวมทั้งยังเป็นสถานีปลายทางของเครือข่ายสายเคเบิลใต้น้ำที่สำคัญยิ่งยวดอีกด้วย
ในวันพฤหัสบดี (19) เทิร์นบูลล์ได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือเรื่องขัดแย้งกับโอบามา โดยบอกผู้สื่อข่าวว่า มีการประกาศเรื่องข้อตกลงให้สัมปทานดำเนินการท่าเรือในดาร์วินอย่างเปิดเผยตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมถึงเรื่องที่นักลงทุนจีนสนใจเข้าลงทุน ที่สำคัญข้อตกลงนี้ไม่ส่งผลใด ๆ ต่อปฏิบัติการทางทหารของออสเตรเลียหรือเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่แล่นผ่านท่าเรือดังกล่าว
ผู้นำแดนจิงโจ้ เสริมว่า ภายใต้กฎหมายของออสเตรเลีย กระทรวงกลาโหม หรือรัฐบาลกลางแดนจิงโจ้สามารถเข้าควบคุมโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่นท่าเรือได้อยู่แล้ว ในกรณีที่มีเหตุผลสำคัญจำเป็นเพื่อปกป้องประเทศ
กระนั้น สถาบันนโยบายทางยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งยวดเกี่ยวกับแลนด์บริดจ์ ซึ่งในเอกสารที่สถาบันเผยแพร่ก่อนหน้านี้ระบุว่าเป็น “บริษัทบังหน้า” ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน
นอกจากนั้น แม้จดทะเบียนในรูปบริษัทเอกชน ทว่า เย่ ประธานกรรมการของแลนด์บริดจ์ เป็นผู้แทนคนหนึ่งในสภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน ซึ่งถือเป็นตำแหน่งทรงเกียรติที่มอบให้แก่ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถึงแม้ตำแหน่งนี้ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบแท้จริงใด ๆ ก็ตาม
สัปดาห์ที่แล้ว พรรคเลเบอร์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญ ยังทำจดหมายถึงสก็อตต์ มอร์ริสัน รัฐมนตรีคลัง เพื่อขอคำอธิบายว่า เหตุใดจึงไม่ส่งข้อตกลงให้สัมปทานดำเนินการท่าเรือดาร์วิน ไปให้คณะกรรมการตรวจสอบการลงทุนของต่างชาติ ที่มีหน้าที่สอดส่องการซื้อกิจการโดยรัฐวิสาหกิจของชาติอื่น
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันพฤหัสบดีเช่นเดียวกัน ทางการแคนเบอร์รากลับเข้าขัดขวางการขายบริษัทเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ให้แก่นิติบุคคลต่างชาติ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ
บริษัทดังกล่าวคือ เอส. คิดแมน แอนด์ โค เจ้าของที่ดินเอกชนรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ขณะที่มีรายงานว่า จีเนียส ลิงก์ กรุ๊ป และเซี่ยงไฮ้ เพงซิน ของจีน ลงสนามแข่งขันประมูลซื้อบริษัทแห่งนี้ด้วย ซึ่งน่าจะมีมูลค่าถึง 350 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ทว่า ล่าสุด ขุนคลังมอร์ริสัน เผยว่า ด้วยความเป็นห่วงสินทรัพย์ทางการเกษตรและเหมืองแร่อันมีค่า ประกอบกับได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการตรวจสอบการลงทุนของต่างชาติ ดังนั้น กระทรวงจะไม่อนุญาตให้ขายบริษัท เอส. คิดแมน แอนด์ โค แก่นักลงทุนต่างชาติ
คิดแมนก่อตั้งขึ้นในปี 1899 ปัจจุบันครอบครองที่ดินราว 1.3% ของที่ดินทั่วออสเตรเลีย และราว 2.5% ของพื้นที่เกษตรของประเทศ บริษัทนี้ถือเป็นแหล่งผลิตเนื้อวัวรายใหญ่สำหรับการส่งออกไปยังญี่ปุ่น อเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัทแห่งนี้มีฟาร์มปศุสัตว์ขนาดยักษ์ใหญ่ 10 แห่ง ทั้งในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย, นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี, และควีนสแลนด์ ครอบคลุมพื้นที่ 101,411 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าเกาหลีใต้ทั้งประเทศ โดยมีปศุสัตว์ทั้งสิ้น 185,000 ตัว
หนึ่งในฟาร์มเหล่านั้นคือแอนนา ครีก ซึ่งเป็นที่ดินติดกันผืนเดียวที่มีขนาดใหญ่สุดในออสเตรเลีย ใหญ่กว่าประเทศอิสราเอล และ 50% ของพื้นที่ที่แบ่งให้เช่านี้ตั้งอยู่ในเขตทดสอบอาวุธ วูมีรา โพรฮิบิต แอเรีย (ดับเบิลยูพีเอ) ในรัฐเซท์ออสเตรเลีย
มอร์ริสันสำทับว่า การตัดสินใจเรื่องนี้อิงอยู่กับขนาดและความสำคัญของที่ดินของคิดแมน รวมทั้งความมั่นคงของชาติเกี่ยวกับการเข้าถึงดับเบิลยูทีโอ ที่ใช้ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ ปล่อยดาวเทียม และติดตามภารกิจในอวกาศ
รัฐมนตรีคลังแดนจิงโจ้เสริมว่า แจ้งการตัดสินใจไปยังผู้เข้าประมูลแล้ว และบริษัทต่างชาติถอนตัวแล้ว
ทว่า ทางบริษัทคิดแมนกลับบอกว่า ประหลาดใจกับการตัดสินใจของทางการ และกำลังขอคำอธิบายเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปี ออสเตรเลียประกาศเข้าตรวจสอบการซื้อที่ดินทางการเกษตรโดยต่างชาติที่มีมูลค่าเกิน 15 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 252 ล้านดอลลาร์ หลังมีคำเตือนจากนักการเมืองท้องถิ่นเกี่ยวกับการขายที่ดินเกษตรกรรมให้ต่างชาติ รวมถึงจีน ประเทศคู่ค้าสำคัญของออสเตรเลีย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ