xs
xsm
sm
md
lg

แอฟริกากลางประกาศจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ 27 ธ.ค. หวังยุติการเข่นฆ่าระหว่างชาวคริสต์-มุสลิมในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี / เอเจนซีส์ / MGR online - องค์กรจัดการเลือกตั้งแห่งชาติของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ประกาศผ่านสถานีวิทยุของรัฐในวันจันทร์ (9 พ.ย.) โดยระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในอดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสซึ่งคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้งแห่งนี้ ในวันที่ 27 ธันวาคม ตามหลังการจัดลงประชามติในวันที่ 13 ธันวาคมเพื่อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีในอนาคต เอาไว้เพียง 2 สมัยๆ ละ 5 ปี

นอกเหนือจากการกำหนดวันเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก และการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นวันที่ 27 ธันวาคมแล้ว ทางองค์กรจัดการเลือกตั้งแห่งชาติของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ยังประกาศจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 หรือรอบชี้ขาด เป็นวันที่ 31 มกราคม ปี 2016 หากไม่มีผู้ใดได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากการเลือกตั้งในรอบแรก

ที่ผ่านมาประชาคมระหว่างประเทศนำโดยอดีตประเทศเมืองแม่อย่างฝรั่งเศส ได้กดดันทางการสาธารณรัฐแอฟริกากลางให้เร่งจัดการเลือกตั้ง รวมถึงการลงประชามติตามครรลองประชาธิปไตยเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศในปีนี้ โดยหวังว่าแนวทางนี้จะช่วยยุติช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี การอุบัติขึ้นของเหตุรุนแรงระลอกใหม่เมื่อไม่นานมานี้ในกรุงบังกี ที่เป็นเมืองหลวง และในอีกหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลทำให้การจัดเลือกตั้งตามกำหนดเดิมในวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมาต้องถูกยกเลิกไป และทำให้เกิดคำถามถึงความเต็มใจของคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆ ในสาธารณรัฐแอฟริกากลางว่า พร้อมเข้าร่วมกระบวนการเลือกตั้งครั้งใหม่เพื่อยุติความขัดแย้งภายในประเทศหรือไม่

อดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสซึ่งไร้ทางออกสู่ทะเลแห่งนี้ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่ายากจนข้นแค้นที่สุด และไร้เสถียรภาพที่สุดของโลกในปัจจุบัน โดยนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2013 เป็นต้นมา สถานการณ์ในประเทศนี้ได้เลวร้ายลงถึงขีดสุด ภายหลังจากที่ระบอบการปกครองที่นำโดยประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โบซิเซซึ่งเป็นชาวคริสต์ ถูกโค่นอำนาจโดยกลุ่มกบฏมุสลิม “เซเลกา”

หลังเข้ายึดอำนาจ สมาชิกกลุ่มกบฏมุสลิมเซเลกาได้ก่อเหตุสังหารโหดชาวคริสต์แบบไม่เลือกหน้า เป็นเหตุให้ชาวคริสต์รวมตัวกันจัดตั้งกองกำลัง “แอนตี้-บาลากา” ขึ้น เพื่อสังหารหมู่ชาวมุสลิมเป็นการแก้แค้น นำไปสู่ความขัดแย้งเต็มรูปแบบระหว่างผู้นับถือศาสนาทั้งสองที่มีสัดส่วนพอๆ กันในสาธารณรัฐแอฟริกากลางแห่งนี้

ขณะที่รัฐสภาของสาธารณรัฐแอฟริกากลางได้แต่งตั้ง “คนกลาง” อย่างนางแคเธอรีน ซัมบา-ปองซา เข้ามารับหน้าที่ประธานาธิบดีชั่วคราวของประเทศเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว เพื่อดูแลการบริหารประเทศ จนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติให้มีการ “คืนประชาธิปไตย” ในประเทศนี้โดยเร็ว

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (9 พ.ย.) ฌอง-อีฟส์ เลอ ดริยง รัฐมนตรีกลาโหมของฝรั่งเศสได้ออกมาระบุระหว่างเข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงในทวีปแอฟริกาที่กรุงดาการ์ของเซเนกัล ว่าสาธารณรัฐแอฟริกากลางมีความพร้อมเพียงพอแล้วที่จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก รวมถึงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้ และจัดการเลือกตั้งรอบชี้ขาดในช่วงต้นปีหน้าหากมีความจำเป็น ถึงแม้บรรดากลุ่มการเมืองต่างๆ ในประเทศนี้จะยังตั้งข้อกังขาถึงความพร้อมทั้งทางด้านงบประมาณและความมั่นคงในการจัดเลือกตั้งครั้งใหม่

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้เกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดระลอกใหม่ระหว่างกลุ่มติดอาวุธของชาวคริสต์และชาวมุสลิมในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง อดีตดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย

โดยรายงานซึ่งอ้างแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในสาธารณรัฐแอฟริกากลางระบุว่า เหตุปะทะกันระลอกล่าสุดระหว่างกลุ่มกบฏมุสลิมเซเลกา กับกองกำลังติดอาวุธแอนตี้ บาลากา ของชาวคริสต์ ซึ่งเริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เมื่อ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 20 รายและยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

ด้านรายงานข่าวที่มีการเผยแพร่โดยสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า จุดที่เกิดการปะทะกันอย่างหนักหน่วงและเกิดการนองเลือดที่สุด คือ ที่เขตบอร์นู และคิชิกรา โดยที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะถูกสังหารด้วยการถูกยิง แต่ยังไม่สามารถจำแนกได้แน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวคริสต์และชาว มุสลิมฝ่ายละกี่ราย

ทั้งนี้ มีรายงานว่าในความเป็นจริงแล้วเหตุปะทะกันอย่างรุนแรงระลอกล่าสุดในสาธารณรัฐแอฟริกากลางระหว่างกลุ่มแอนตี้ บาลากากับกลุ่มกบฏเซเลกานั้น ถูกระบุว่า มีต้นตอมาจากการเสียชีวิตของเยาวชนชาวมุสลิมรายหนึ่งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมาที่เขตบัมบารีทางภาคกลางของประเทศ ซึ่งฝ่ายกบฏมุสลิมเซเลกาเชื่อว่า การเสียชีวิตดังกล่าว เป็นฝีมือของกองกำลังแอนตี้ บาลากาของชาวคริสต์ และเริ่มเปิดการโจมตีเพื่อ “แก้แค้น”

ที่ผ่านมา กองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ เพื่อการสร้างเสถียรภาพในแอฟริกากลาง (MINUSCA) สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ในกรุงบังกีที่เป็นเมืองหลวงให้กลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ทว่าสำหรับสถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆ นอกกรุงบังกีแล้วยังถือว่า อยู่ในภาวะ “ไร้ขื่อแป” และมีการฆ่าล้างแค้นกันไปมา ระหว่างกองกำลังชาวคริสต์และชาวมุสลิมเกิดขึ้นเป็นรายวัน

ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ความขัดแย้งทางศาสนาในสาธารณรัฐแอฟริกากลางได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 5,000 ราย นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2013 เป็นต้นมา