เอเอฟพี / รอยเตอร์/ เอเจนซีส์ / MGR online - องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization : WHO) ประกาศในวันเสาร์ (7 พ.ย.) ยืนยันให้เซียร์ราลีโอนกลายเป็นดินแดนที่ปลอดจากเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” อย่างเป็นทางการแล้ว ถือเป็นการสิ้นสุดช่วงเวลาแห่งความยากลำบากที่กินเวลายาวนานกว่า 18 เดือนที่อดีตอาณานิคมของอังกฤษแห่งนี้ต้องเผชิญกับไวรัสมหากาฬที่คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 4,000 ราย และฉุดรั้งเศรษฐกิจของประเทศให้ถลำเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งเลวร้าย
คำแถลงของอันเดอร์ส นอร์ดสตรอม ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงฟรีทาวน์ เมืองหลวงของเซียร์ราลีโอน ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาในประเทศนี้ถือว่าสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการแล้วในวันเสาร์ (7) หลังจากที่ไม่มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติมอีกตลอดระยะเวลาการเฝ้าระวังนาน 42 วันที่ผ่านมา
การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาระลอกล่าสุดที่ปะทุขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ได้เริ่มขึ้นในเขตป่าลึกของประเทศกินีตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2013 ก่อนจะลุกลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอนในเวลาต่อมา จนส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อในภูมิภาคนี้มากกว่า 28,600 ราย และมีผู้เสียชีวิตราว 11,300 ราย
การประกาศขององค์การอนามัยโลกให้เซียร์ราลีโอนปลอดจากเชื้ออีโบลา ส่งผลให้ในเวลานี้ยังเหลือเพียงกินีประเทศเดียวเท่านั้นที่ยังคงมีการระบาดของไวรัสมรณะชนิดนี้
ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ได้กลายเป็นปัจจัยลบ ที่ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของประเทศนี้ที่เพิ่งจะฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ หลังต้องเผชิญกับ “สงครามกลางเมือง” นานกว่า 11 ปีที่เพิ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อปี 2002
ก่อนหน้านี้ทางธนาคารโลกประเมินว่า เซียร์ราลีโอนจะต้องเผชิญกับมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องประสบภาวะหดตัวของจีดีพีมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขของกินีเปิดเผยโดยยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลารายใหม่อีก 3 รายในประเทศของตน ดับความหวังของทางการกินีที่ต้องการถูกประกาศจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ประเทศของตนเป็นเขตปลอดเชื้อมรณะชนิดนี้
โฟเด ตาสส์ ซีลลา โฆษกศูนย์ต่อสู้อีโบลาแห่งชาติของกินี เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้ง 3 คน ได้รับเชื้ออีโบลาในเขตโฟเรการิอาห์ ทางภาคตะวันตกของประเทศ และได้รับเชื้อจากครอบครัวของสตรีรายหนึ่งที่เสียชีวิตจากการติดเชื้ออีโบลาไปก่อนหน้านี้ โดยที่ศพของเธอไม่ได้ถูกจัดการตามขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสมรณะ
โฆษกศูนย์ต่อสู้อีโบลาแห่งชาติของกินียังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 3 คนดังกล่าว ส่งผลให้ในเวลานี้ กินีมีผู้ติดเชื้ออีโบลา ที่เข้ารับการดูแลภายในศูนย์ควบคุมโรคทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 9 ราย และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในจำนวนนี้มีความเชื่อมโยงกับสตรีรายดังกล่าวที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้
กินี ถือเป็นประเทศต้นตอของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะอีโบลา ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก หลังพบเด็กชายวัยเพียง 2 ปีล้มป่วยเพราะติดเชื้ออีโบลาเป็นรายแรก ในเขตหมู่บ้านอันห่างไกลของกินีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2013 และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะชนิดนี้ในกินีกำลังใกล้ยืดเยื้อเข้าสู่ขวบปีที่ 4 ในปี 2016
ทั้งนี้ ไลบีเรียได้รับการประกาศจากองค์การอนามัยโลก ให้ปลอดจากเชื้ออีโบลาไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา