เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้ (2 พ.ย.) เจมส์ อาร์ แคลปเปอร์ จูเนียร์ (James R. Clapper Jr.) ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ CIA ได้กล่าวในงานประชุมสุดยอดความมั่นคงประจำปี 2015 “Defence One” ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เปิดเผยว่า ทางหน่วยงานไม่ได้สั่งถอนเจ้าหน้าที่ CIA ออกจากจีน หลังจากที่มีรายงานก่อนหน้านั้นว่า หน่วยงานสำนักงานจัดการบุคลากรสหรัฐฯ (Office of Personal Management - OPM) ถูกมือแฮกเกอร์รัฐบาลจีน จารกรรมข้อมูลความลับประวัติเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ CIA นอกเครื่องแบบรวมอยู่ในนั้น
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานเมื่อวานนี้ (2) นี้ว่า ในระหว่างการประชุมสุดยอดความมั่นคงประจำปี 2015 “Defence One” ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันอังคาร(2) เจมส์ อาร์ แคลปเปอร์ จูเนียร์ (James R. Clapper Jr.) ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ CIA ถูกตั้งคำถามว่า ได้มีการสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ CIA ออกจากกรุงปักกิ่งหลังจากมีรายงานว่า ฐานข้อมูลหน่วยงานสำนักงานจัดการบุคลากรสหรัฐฯ (Office of Personal Management - OPM) ถูกมือแฮกเกอร์รัฐบาลจีนจารกรรม ในปี 2014
ในการตอบคำถามดังกล่าวนี้ แคลปเปอร์ได้กล่าวเพียงว่า “ไม่” ซึ่งหมายถึงไม่มีการสั่งถอนกำลังออกมาจากจีนเพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ทว่าเขาไม่ได้ให้รายละเอียดมากไปกว่านี้
สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ วิตกว่าจีนอาจสามารถล่วงรู้ว่าใครบ้างที่ทำงานให้แก่ CIA โดยการใช้ฐานข้อมูลเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เปรียบเทียบกับรายชื่อของเจ้าหน้าที่อเมริกันที่ถูกส่งไปประจำในจีน และจะทำให้ทราบว่ารายชื่อของบุคคลที่ไม่ปรากฎในฐานข้อมูลคือ “รายชื่อของเจ้าหน้าที่สายลับ CIA”
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ไม่ได้ประณามอย่างเป็นทางการว่า ปักกิ่งเป็นผู้จารกรรมฐานข้อมูล OPM แต่ทว่าในการสัมมนาข่าวกรองเมื่อต้นปีนี้ แคลปเปอร์ได้เปิดเผยว่า จีนอยู่ในข่ายผู้ต้องสงสัยมากที่สุด
และในวันจันทร์ (2) เป็นอีกครั้งที่ผู้อำนวยการใหญ่หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ ต้องตอบคำถามว่า ทราบหรือไม่ว่าใครเป็นผู้โจมตีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ OPM ทำให้แคลปเปอร์ตอบกลับด้วยอารมณ์ขันว่า “เรามีความคิดดีๆ ในเรื่องนี้” สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ที่อยู่ร่วมในที่ประชุมแห่งนั้น
ทั้งนี้มีรายงานล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2015 ว่า สหภาพพนักงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงยืนยันว่า แฮกเกอร์สามารถล้วงเอาข้อมูลลับเฉพาะของพนักงานรัฐบาลสหรัฐฯ ในทุกภาคส่วนไปได้ ซึ่งฐานข้อมูลที่ถูกโจมตีประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เช่น ประวัติการเงิน, การลงทุน, ครอบครัว, หลักฐานความเชื่อมโยงกับชาวต่างชาติ ตลอดจนรายชื่อผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง และเพื่อนที่รู้จัก
และในขณะนั้นยังไม่สามารถประเมินได้อย่างแน่นอนถึงขอบเขตความเสียหายในการถูกโจรกรรมข้อมูลว่า มีข้อมูลความลับเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากเท่าใดที่รั่วไหลออกไปสู่ภายนอก
กระบวนการสอบสวนซึ่งมีเอฟบีไอร่วมด้วย บ่งชี้ว่า “มีความเป็นไปได้สูงที่แฮกเกอร์จะสามารถเจาะเข้าถึงข้อมูลการตรวจสอบประวัติพนักงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และผู้สมัครกรอกข้อมูลเข้าทำงานให้กับหน่วยงานรัฐล่าสุด ซึ่งการถูกจารกรรมเจาะระบบของเครือข่ายสำนักงานจัดการบุคลากรสหรัฐฯ เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งด้วยกัน