เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ แห่งออสเตรเลีย ประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวิน (knight) และท่านผู้หญิง (dame) ซึ่งมอบให้แก่บุคคลที่กระทำคุณงามความดีต่อชาติ โดยระบุว่าเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ที่ไม่เหมาะกับยุคสมัยใหม่
ธรรมเนียมการแต่งตั้งอัศวินและท่านผู้หญิงถูกรื้อฟื้นขึ้นในปีที่แล้วโดยอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบอตต์ ซึ่งเชิดชูความสัมพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษ แต่นั่นก็ทำให้ตัวเขาเองถูกวิจารณ์ว่าทำตัว “หลงยุค” และไม่เข้าถึงประชาชนเท่าที่ควร
เป็นที่คาดหมายอยู่แล้วว่า เทิร์นบูลล์ ซึ่งสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐอย่างเปิดเผยจะต้องสั่งยกเลิกธรรมเนียมนี้ หลังจากที่ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคลิเบอรัลแทนที่ แอบบ็อตต์ จากการโหวตของพรรคเมื่อเดือนกันยายน
“คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องการมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ออเดอร์ ออฟ ออสเตรเลีย และเล็งเห็นว่า บรรดาศักดิ์อัศวินและท่านผู้หญิงไม่เหมาะสมกับระบบการเชิดชูเกียรติบุคคลในยุคสมัยใหม่” นายกฯ เทิร์นบูลล์ ระบุในถ้อยแถลง พร้อมเสริมว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงตอบรับข้อเสนอจากรัฐบาลแคนเบอร์ราที่ให้ถอดบรรดาศักดิ์ชั้นอัศวินและท่านผู้หญิงออกจากสารบบเครื่องราชอิสรยาภรณ์ ออเดอร์ ออฟ ออสเตรเลีย
“อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่มีผลกระทบถึงบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินและท่านผู้หญิงไปแล้ว”
ต่อมา เทิร์นบูลล์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่นครซิดนีย์ว่า การมอบยศถาบรรดาศักดิ์ “ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับสังคมออสเตรเลียในปัจจุบัน”
“นี่คือสิ่งที่แสดงถึงความเป็นออสเตรเลียสมัยใหม่ ในขณะที่อัศวินและท่านผู้หญิงเป็นเรื่องผิดกาลเทศะ ล้าสมัย และไม่เหมาะสมกับออสเตรเลียในปี 2015”
การรื้อฟื้นบรรดาศักดิ์อัศวินและท่านผู้หญิงขึ้นในปี 2014 เป็นเรื่องที่สังคมออสซี่ตั้งคำถามมากมายอยู่แล้ว แต่ที่ประชาชนเห็นเป็นเรื่องน่าขันมากที่สุดก็คือการที่ แอบบ็อตต์ เสนอให้เจ้าชายฟิลิป พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้รับบรรดาศักดิ์ “อัศวิน” ด้วย
กลุ่มนิยมสาธารณรัฐซึ่งต้องการให้ออสเตรเลียตัดสัมพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษ กล่าวหาว่า แอบบ็อตต์ พยายามรื้อฟื้นแนวคิดยุคอาณานิคม ขณะที่พรรคแรงงานฝ่ายค้านก็ผสมโรงโจมตีว่า บรรดาศักดิ์อัศวินและท่านผู้หญิงไม่สมควรถูกนำกลับมาใช้อีก
“มันเป็นเรื่องน่าตลก น่าขำ และทำลายเกียรติภูมิของชาติ” คริส โบเวน ส.ส.พรรคแรงงาน เคยบอกกับสื่อมวลชนไว้ที่นครซิดนีย์
การตัดขาดความสัมพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานในแดนจิงโจ้ แต่ผลประชามติในปี 1999 ออกมาว่า คนส่วนใหญ่ยังต้องการให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีสถานะเป็นประมุขรัฐต่อไป
ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนออสเตรเลียเป็นสาธารณรัฐมีผู้สนับสนุนลดน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยโพลของสำนักข่าว แฟร์แฟกซ์-นีลเซน ซึ่งสอบถามจากชาวออสซี่ 1,400 คนในปี 2014 พบว่า ร้อยละ 51 ต้องการคงสถานะเดิมไว้ ส่วนพวกที่หนุนระบอบสาธารณรัฐมีเพียงร้อยละ 42