xs
xsm
sm
md
lg

มหาวิทยาลัยของมาดูโร 18 แห่งใกล้เจ๊ง!! “ศาสตราจารย์เวเนฯแห่ตบเท้าผละงานขอขึ้นเงินเดือน” สุดอึ้งได้เงินค่าสอนทั้งเดือนแค่ 3,400 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นิโคลัส มาดูโร (ภาพเอเอฟพี)
เอเจนซีส์ – ล่าสุดอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วเวเนซุเอลาร่วม 40,000 คนผละงานประท้วงขอขึ้นเงินเดือน และทำให้มหาวิทยาลัย 18 แห่งทั่วประเทศต้องหยุดทำการ และอาจต้องปิดตัวลงถาวรหากประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ยังไม่แก้ไข หลังจากพบว่า ตำแหน่งระดับศาสตราจารย์ในเวเนซุเอลาได้เงินเดือนสูงสุดแค่ 100 ดอลลาร์ หรือ 3,400 บาทเท่านั้น

ฟ็อกซ์นิวส์ สื่อสหรัฐฯรายงานเมื่อวานนี้(27)ว่า สภาพเศรษฐิกิจถดถอยอย่างหนักได้เข้ามาถึงในชั้นเรียนเวเนซุเอลาเรียบร้อยแล้ว เมื่ออาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศราว 40,000 คนผละงานประท้วงขอขึ้นเงินเดือน ซึ่งสะท้อนถึงอัตราเงินเฟ้อ 150% ในปีนี้ของเวเนซุเอลาได้เป็นอย่างดี

และนอกจากร้องขอขึ้นเงินเดือนแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยเหล่านี้ยังประกาศความต้องการให้รัฐบาลเวเนซุเอลาของประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร เร่งส่งอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆที่จำเป็นมายังสถาบันการศึกษาหลังจากที่อยู่ในสภาพขาดแคลนมานาน

และการผละงานครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาระดับปริญาตรีทั่วประเทศทันทีไม่ต่ำกว่า 300,000 คน

ด้านอามาลิโอ เบลมอนเต (Amalio Belmonte) เลขาธิการฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยกลางแห่งเวเนซุเอลา UCV ได้ให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยต่างๆในเวเนซุเอลากำลังเผชิญกับวิกฤตการเงินขั้นร้ายแรงที่สุดในรอบเกือบ 6 ปีนี้

“ห้องวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขาดวัสดุและอุปกรณ์ขั้นพื้นฐาน ทางมหาวิทยาลัยไม่ทุนสำหรับการทำวิจัยและการทำงานศึกษาด้านอื่นๆ และที่สำคัญบรรดาศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่สามารถดำรงชีพในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ด้วยเงินเดือนที่ต่ำมาก” เบลมอนเตกล่าว ซึ่งได้เปิดเผยถึงสภาพทั่วไปล่าสุดของ UCV ซึ่งเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดของเวเนซุเอลา

และนอกจากนี้ เบลมอนเตยังเปิดเผยฟ็อกซ์นิวส์ลาตินโนว่า มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วเวเนซุเอลามีแนวคิดที่จะปิดตัวเองก่อนที่จะปิดภาคการศึกษาในปีนี้หากปัญหาการเงินเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข และเลขาธิการฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยกลางแห่งเวเนซุเอลา UCV เบลมอนเต ยังเปิดเผยว่า การประท้วงผละงานของเหล่าโปรเฟสเซอร์อาจจะลามไปถึงในชั้นเรียนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยระดับธุรการซึ่งยังคงมาทำงานอยู่ในเวลานี้อาจจะผละงานประท้วงด้วยเช่นกัน

สื่อสหรัฐฯรายงานเพิ่มเติมว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเวเนซุเอลาได้จัดสรรค์งบประมาณให้กับ UCV ราว 4.5 พันล้านโบลิวาร์ หรือ 5.7 ล้านดอลลาร์ แต่ทว่าเบลมอนเตชี้ว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องการเงินอย่างน้อย 13 พันล้านโบลิวาร์เพื่อจะสามารถจะคงเปิดทำการต่อไปได้

“รัฐบาลให้เงินเราเพียงแค่ 34% ของ 13 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ในปี 2015 รัฐบาลเวเนซุเอลาอนุมัติแค่ 46%ของจำนวนเม็ดเงินที่เราจำเป็นต้องใช้” เบลมอนเตกล่าว และเสริมต่อว่า “คนพวกนี้กำลังจะฆ่าเราสถาบันการศึกษาด้วยการเงิน”

นอกจากนี้ สื่อฟ็อกซ์นิวซ์รายงานต่อว่า ในเดือนที่ผ่านมา อาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยทั่วเนเนซุเอลาได้รับเงิน 120% หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนที่พวกเขาคาดว่าจะได้รับ

แต่กระนั้น อาจารย์ในเวเนซุเอลาได้รับเงินเดือนน้อยกว่า 6 เท่าของบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โคลอมเบีย บราซิล เม็กซิโก และชิลี ที่ได้รับ แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยเวเนซุเอลาให้ความเห็น และมีรายงานว่า อาจารย์ระดับศาสตราจารย์ของเวเนซุเอลาซึ่งมีความเชี่ยวชาญสูงสุดได้รับเงินเดือนมากที่สุดแค่ 100 ดอลลาร์ หรือ 3,400 บาทต่อเดือน และเป็นเหตุให้มีอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาจำนวนมากในประเทศที่มีบ่อน้ำมันใหญ่ที่สุดต้องลาออก

นอกจากนี้ ฟ็อกซ์นิวส์รายงานต่อว่า ในช่วงปี 2010 – 2014 มีอาจารย์จำนวน 1,200 คนได้ลาออกไปแล้วจาก UCV และอาจารย์อีก 400 คนลาออกจากมหาวิทยาลัยไซมอน โบลิวาร์ ( Simon Bolivar) ซึ่งเป็นใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในกรุงคาราคัส

อย่างไรก็ตามในสภาพการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนในการเปิดการเรียนการสอนในภาคปีการศึกษาที่ต้องล่าช้าออกไป แต่ทว่านักศึกษาเวเนซุเอลาจำนวนมากต่างเข้าใจถึงสภาวการณ์ และเหตุผลที่บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยผละงานประท้วง รวมไปถึงสนับสนุนแนวคิดนี้

ฮัสเลอร์ อิเลเซียส (Hasler Iglesias) ประธานสมาพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัย UCV กล่าวว่า “เป็นความผิดของรัฐบาลเวเนซุเอลาที่ไม่ยอมแก้ปัญหา ทั้งๆทราบเป็นเวลานานหลายปีแล้ว” และเสริมต่อว่า “เราต้องร่วมกันประท้วงอย่างสันติเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น”

ทั้งนี้มีรายงานว่า นักศึกษา UCVร่วมกับกลุ่มอาจารย์ประท้วงบนท้องถนน และมีการเปิดการสอนประท้วงด้านหน้าที่ตั้งกระทรวงศึกษาเวเนซุเอลา




กำลังโหลดความคิดเห็น