เอเอฟพี - ญี่ปุ่นเริ่มกลับมาเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องที่ 2 ในวันพฤหัสบดี (15 ต.ค.) หลังปิดไปเพราะวิกฤตฟูกุชิมะเมื่อปี 2011 เป็นความเคลื่อนไหวในช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการจะกลับไปใช้แหล่งพลังงานราคาถูก แม้ว่าจะโดนต่อต้านจากสาธารณชน
“ยูทิลิตี คิวชู อิเลคทริก เพาเวอร์” ระบุว่า ได้เริ่มกลับมาเดินเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 2 ที่เซนได ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 1,000 กิโลเมตร เมื่อเวลา 10.30 น.
หลังจากที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้เดินเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 1 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
เหล่าวิศวกรจะใช้เวลาอีกหลายวันในการทำให้เครื่องปฏิกรณ์ทำงานได้ในระดับปฏิบัติการ ก่อนที่จะเริ่มใช้งานเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
เมื่อ 4 ปีก่อน คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวได้สร้างความเสียหายแก่ระบบทำความเย็น ส่งผลให้เครื่องปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะร้อนจนละลาย นำไปสู่การปิดเครื่องปฏิกรณ์กว่า 50 เครื่องทั่วญี่ปุ่น รวมถึงการถกเถียงกันเรื่องการใช้พลังงานปรมาณูในอนาคต
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้ผลักดันให้มีการกลับมาเดินเครื่องปฏิกรณ์ โดยระบุว่าพลังงานปรมาณูนั้นจำเป็นสำหรับประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกอย่างญี่ปุ่น แต่สาธารณชนก็ต่อต้านเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น “โยชิฮิเดะ ซูกะ” ได้ระบุว่า รัฐบาลจะเดินหน้ากลับมาเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตามที่ต่างๆ ซึ่งปลอดภัยตามมาตรฐานที่ได้รับการปรับปรุง “รัฐบาลยังไม่เปลี่ยนนโยบายนี้” ซูกะบอกในงานแถลงข่าว
สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเครายงานว่า มีฝูงชนประมาณ 70 คนมารวมตัวกันที่ด้านหน้าโรงไฟฟ้าเซนได เพื่อประท้วงการกลับมาเดินเครื่องปฏิกรณ์ครั้งล่าสุด
“กรีนพีซ” ได้วิจารณ์รัฐบาลของอาเบะว่าไม่สนใจความปลอดภัยของสาธารณชน พร้อมทั้งแย้งด้วยว่า ญี่ปุ่นไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์
รัฐบาลได้กลับมาเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เป็นการชั่วคราวเมื่อปี 2012 เพื่อป้องกันการขาดแคลนพลังงานในพื้นที่คันไซ จากนั้นก็ระงับไปเพื่อทำการตรวจสอบในเดือนกันยายน 2013