เอเอฟพี - ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าประกาศในวันจันทร์ (10 ส.ค.) ว่าญี่ปุ่นเตรียมเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เซนไดอีกครั้งในวันอังคาร (11 ส.ค.) หลังจากหยุดไป 2 ปี เพราะผู้คนมีความรู้สึกต่อต้านปรมาณูอันเนื่องจากวิกฤตฟุกุชิมะเมื่อปี 2011
เครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 1 ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเซนได ซึ่งอยู่ห่างจากโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงใต้เกือบ 1,000 กิโลเมตร ได้รับการเติมเชื้อเพลิงปรมาณูแล้ว ทางผู้ประกอบการได้ประกาศในวันจันทร์ (10 ส.ค.) ว่าจะเริ่มเดินเครื่องปฏิกรณ์ตอนเวลา 10.30 น. ของวันอังคาร ตามเวลาท้องถิ่น
โฆษกของคิวชูอิเล็คทริคเพาเวอร์ ระบุว่า เครื่องปฏิกรณ์ที่มีอายุการใช้งาน 31 ปีเครื่องนี้ คาดว่าจะเดินเครื่องได้เต็มกำลังตอนเวลา 11.00 น.
ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหว-คลื่นยักษ์สึนามิ ที่สร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะเมื่อปี 2011 ได้ทำให้มีการปิดเครื่องปฏิกรณ์อื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่นตามไปด้วย
ในขณะนั้น ญี่ปุ่นซึ่งครั้งหนึ่งเคยพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งหมด ได้เดินเครื่องปฏิกรณ์ 2 เครื่องเป็นการชั่วคราว เพื่อสนองความต้องการพลังงานไฟฟ้าในประเทศ แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ปิดการทำงานทั้งสองเครื่องในเดือนกันยายน 2013 เพื่อให้ประเทศปลอดจากนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงเป็นเวลา 2 ปี
รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ นั้นมีความกระตือรือล้นที่จะให้เครื่องปฏิกรณ์เหล่านี้กลับมาเดินเครื่องทำงานอีกครั้ง ขณะที่บรรดาบริษัทผู้ประกอบธุรกิจพลังงานซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องปฏิกรณ์ ต่างก็พากันหงอยเพราะต้องสูญเสียศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาแพงเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ผู้คนในญี่ปุ่นยังคงรู้สึกระแวง ประเทศนี้ยังคงมีรอยแผลลึกที่เกิดจากวิกฤติฟุกุชิมะ ที่ทำให้ผู้คนนับหมื่นต้องทิ้งบ้านเรือนเพื่อหนีภัยในตอนนั้น
บรรดาเจ้าหน้าที่ได้เน้นย้ำว่า เครื่องปฏิกรณ์จะทำงานภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวดมากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติฟุกุชิมะ ภัยปรมาณูที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์เชอร์โนบิลเมื่อปี 1986 แต่ถึงกระนั้นสาธารณชนก็ยังคงต่อต้านการกลับมาเดินเครื่องปฏิกรณ์อีกครั้ง
มีผู้ประท้วงราว 400 รายออกมาเดินขบวนกันในวันจันทร์ (10 ส.ค.) บริเวณด้านหน้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซนได ซึ่งอยู่ใต้สุดของเกาะคิวชู
“ผมไม่อาจยอมให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้ ผมจะไม่ทนปล่อยให้พวกเขากลับมาเดินเครื่องปฏิกรณ์ในช่วงเวลานี้ อุบัติเหตุที่ฟุกุชิมะยังแก้ปัญหาไม่ได้เลยด้วยซ้ำ” ผู้ประท้วงรายหนึ่งบอกกับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น