xs
xsm
sm
md
lg

กรีนพีซชี้ 367 เมืองใหญ่ในจีนมี “ค่าฝุ่นละออง” สูงกว่ามาตรฐานอนามัยโลก “เกือบ 5 เท่า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” ซึ่งเข้าไปสำรวจคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ 367 แห่งของจีน พบว่ามีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) ซึ่งเล็กพอที่จะแทรกซึมผ่านปอดสูงเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้เกือบ 5 เท่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้

แม้สถานการณ์ในภาพรวมจะดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แต่เกือบร้อยละ 80 ของเมืองใหญ่ที่กรีนพีซเข้าไปสำรวจยังคงมีค่าพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานที่รัฐบาลจีนกำหนด ซึ่งก็หละหลวมกว่าเกณฑ์ของ WHO มากอยู่แล้ว

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่โรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เมืองใหญ่ๆ ของจีนถูกปกคลุมด้วยหมอกควันพิษ และเป็นสาเหตุให้พลเมืองจีนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละหลายแสนคน

มลพิษในอากาศถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวจีน ซึ่งที่ผ่านรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ก็พยายามหามาตรการแก้ไข รวมถึงการสั่งย้ายโรงไฟฟ้าออกไปนอกเมือง ทว่าแนวทางทั้งหมดที่จีนก็ไม่สามารถเห็นผลได้ในเร็ววัน

กรีนพีซชี้ว่า ค่าเฉลี่ยพีเอ็ม 2.5 ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วราวๆ 10%

“ถึงแม้จะสถานการณ์จะดีขึ้นมาบ้าง แต่ค่ามลพิษยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และไม่ปลอดภัย” ตง เลียนไซ (Dong Liansai) เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านสภาพอากาศและพลังงานของกรีนพีซประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก กล่าว

เมืองที่วัดค่ามลพิษได้สูงที่สุด ได้แก่ คัชการ์ (Kashgar) และโฮตัน (Hotan) ในมณฑลซินเจียง และเป่าติ้ง (Baoding) ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทางภาคเหนือของจีน

กรีนพีซ ระบุว่า ค่าเฉลี่ยพีเอ็ม 2.5 ในทุกเมืองที่ทำการสำรวจอยู่ที่ 47.2 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร สูงกว่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ว่าควรได้รับไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อปีเกือบ 5 เท่าตัว ขณะที่มาตรฐานของทางการจีนกำหนดไว้ไม่เกิน 35 ไมโครกรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

เมืองหลวงของจีนถูกจัดอยู่ในกลุ่มเมืองที่มีค่ามลพิษสูงสุดในโลก โดยค่าพีเอ็ม 2.5 ในกรุงปักกิ่งช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 72.1 ส่วนมหานครเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ 50.4

เดือนที่แล้ว รัฐบาลจีนสั่งปิดโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่ง เพื่อให้มั่นใจว่าท้องฟ้าเหนือจตุรัสเทียนอันเหมินจะต้องสดใสในวันที่จีนมีพิธีสวนสนามใหญ่ฉลอง 70 ปีแห่งการมีชัยชนะเหนือญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

กรีนพีซ เตือนว่า วิธีแก้ปัญหาระยะสั้นเช่นนี้สะท้อนถึงความเพิกเฉยต่อปัญหาคุณภาพอากาศในระยะยาว

“สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือ ยุทธศาสตร์และการปรับโครงสร้างพลังงานของจีนในระยะยาว” ตง ระบุ

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลจีนระบุเรื่องการลดใช้พลังงานถ่านหินลงในแผนเศรษฐกิจช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการร่างโดยพรรคคอมมิวนิสต์

“การลดใช้พลังงานถ่านหินลงบ้างเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มลพิษในอากาศเบาบางลง และนำอากาศบริสุทธิ์กลับคืนสู่เมืองใหญ่ของเราอีกครั้ง” ตง กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น