รอยเตอร์ - สิงคโปร์เปิดตัวต้นแบบยานพาหนะไร้คนขับซึ่งจะเป็นการปฏิวัติระบบขนส่งสาธารณะและช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในอนาคต ขณะที่รัฐบาลยังมีแผนสร้างเครือข่ายรถประจำทางไร้คนขับวิ่งให้บริการแก่ผู้โดยสาร รวมถึงคาราวานรถบรรทุกที่สามารถควบคุมได้ด้วยคนขับเพียงคนเดียว
การเปิดตัวยานพาหนะไร้คนขับถือเป็นจุดเริ่มต้นในแผนปฏิรูประบบขนส่งของสิงคโปร์ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรวิจัยและสถาบันการศึกษาหลายแห่ง
ยานยนต์ไร้คนขับทั้ง 2 รุ่นเป็นผลิตผลจาก 2 โครงการหลักๆ ได้แก่ โครงการพันธมิตรวิจัยและเทคโนโลยีสิงคโปร์-เอ็มไอที (SMART) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และโครงการที่สองโดยสำนักงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย แห่งสิงคโปร์
สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ได้อนุมัติให้มีการนำยานพาหนะไร้คนขับมาทดลองใช้บนถนนสาธารณะบ้างแล้ว
ด้วยข้อจำกัดทั้งในด้านพื้นที่และแรงงาน รัฐบาลสิงคโปร์หวังว่ารถยนต์ไร้คนขับจะช่วยส่งเสริมให้พลเมืองหันมาใช้รถร่วมกัน และพึ่งพาขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด
“การสรรหาคนขับรถประจำทางและรถบรรทุกถือเป็นภารกิจที่ท้าทายมากสำหรับเรา” ปัง กิน เกียง ปลัดกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์
“ประชากรเรามีไม่มากนัก และนี่ก็ไม่ใช่อาชีพที่ชาวสิงคโปร์อยากจะทำ” ปัง กล่าวหลังทดลองนั่งรถยนต์ SMART-NUS ซึ่งเป็นรุ่นที่ดัดแปลงมาจากรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส และสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รัฐบาลและการท่าเรือสิงคโปร์ (PSA) ยังประกาศรับข้อเสนอออกแบบและผลิต “หน่วยรถบรรทุกไร้คนขับ” ซึ่งจะช่วยให้พนักงานขับคนเพียงคนเดียวสามารถควบคุมขบวนรถบรรทุกที่ขับตามกันมาได้
บริษัทที่ปรึกษา บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป ระบุในรายงานเมื่อเดือนเมษายนว่า ยานพาหนะไร้คนขับจะกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถร่วมกันมากขึ้น และในที่สุดจะทำให้ความต้องการมีรถยนต์ส่วนตัวลดลง และยานพาหนะบนท้องถนนก็จะน้อยลงตามไปด้วย
กูเกิล และค่ายรถยนต์ชั้นนำหลายแห่งของโลกคาดว่า รถยนต์ไร้คนขับจะพร้อมผลิตและจำหน่ายในท้องตลาดได้ ภายในปี 2020