เอเจนซีส์ - นักวิทยาศาสตร์แดนจิงโจ้ค้นพบกลุ่มภูเขาไฟโบราณนอกชายฝั่งนครซิดนีย์ คาดว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 50 ล้านปี และอาจเป็นกุญแจไขความลับเกี่ยวกับแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรระหว่างออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์
นักวิจัยกลุ่มนี้ค้นพบภูเขาไฟโบราณ 4 ลูกซึ่งดับสนิทแล้ว อยู่ห่างจากชายฝั่งซิดนีย์ไปราวๆ 250 กิโลเมตร ขณะที่พวกเขาออกเรือไปสำรวจแหล่งหากินของตัวอ่อนกุ้งล็อบสเตอร์เมื่อเดือนที่แล้ว
ริชาร์ด อาร์คิวลัส ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุว่า กลุ่มภูเขาไฟซึ่งกระจายตัวกินพื้นที่ราว 20 ตารางกิโลเมตร “เป็นหน้าต่างไปสู่ชั้นเนื้อโลก (mantle)” ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้พื้นทะเล
“ภูมิประเทศเหล่านี้บอกอะไรบางอย่างแก่เราว่า นิวซีแลนด์ และออสเตรเลียแยกจากกันได้อย่างไรเมื่อราว 40-80 ล้านปีมาแล้ว และเป็นโอกาสที่นักวิทยาศาสตร์จะได้ไขปริศนาเกี่ยวกับแผ่นเปลือกโลก”
กลุ่มภูเขาไฟเหล่านี้อยู่ลึกลงไป 4,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งทำให้มันไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน ทั้งที่ภูเขาไฟลูกที่ใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางปากปล่องถึง 1.5 กิโลเมตร และสูงจากพื้นทะเลขึ้นมาถึง 700 เมตร
อย่างไรก็ตาม เรือของทีมวิจัยชุดนี้มีอุปกรณ์โซนาร์ที่สามารถสำรวจพื้นทะเลลึกถึงระดับนั้นได้
“ผมเชื่อว่าทุกครั้งที่เราลงไปสำรวจพื้นทะเล เราจะพบในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน” อาร์คิวลัส ให้สัมภาษณ์
“ผมมักพูดเสมอว่า เรารู้จักพื้นผิวดาวอังคารดีกว่าหลังบ้านของเราเองเสียอีก นั่นก็เพราะว่าบนดาวอังคารไม่มีน้ำมาขวางกั้น”
อาร์คิวลัสอธิบายว่า หากนำลาวาที่ได้จากภูเขาไฟโบราณมาตรวจวิเคราะห์ นักวิทยาศาสตร์ก็จะสามารถระบุองค์ประกอบของชั้นแมนเทิลที่อยู่ลึกลงไปได้
“มันก็เหมือนการเข้าไปคุ้ยถังขยะ เพื่อดูว่าบ้านนั้นเขาทานอะไรกันบ้างนั่นแหละ”
ทีมวิจัยชุดนี้ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ 28 คนจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วออสเตรเลีย รวมถึงมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์
“การเดินทางของเราครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดงาม” เอียน ซูเธอร์ส จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าว
“เราไม่เพียงพบกลุ่มภูเขาไฟที่อยู่ห่างจากซิดนีย์ไปไม่เท่าไหร่ แต่ยังตื่นเต้นที่ได้รู้ว่ากระแสน้ำวนนอกชายฝั่งซิดนีย์ดึงดูดตัวอ่อนของกุ้งล็อบสเตอร์ให้เข้ามาหากินในฤดูกาลที่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเจอพวกมัน”