xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ซีเรียระอุ! “ปูติน” ท้าชนสหรัฐฯ เปิดฉากทิ้งบอมบ์ซีเรียช่วยอุ้ม “อัสซาด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย (ซ้าย) ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย (กลาง) และประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ
สถานการณ์ในซีเรียเริ่มทวีความร้อนระอุยิ่งขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรัสเซียซึ่งเคยเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์วงนอกตัดสินใจกระโจนเข้าแทรกแซงสถานการณ์ โดยส่งทั้งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เข้าไปในเมืองท่าลาตาเกียริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของรัฐบาลดามัสกัส และล่าสุดก็ได้เริ่มใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในซีเรียอย่างเต็มตัว โดยอ้างว่าต้องการกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในขณะที่ฝ่ายตะวันตกเชื่อว่าเป้าหมายที่แท้จริงของมอสโกอยู่ที่ฝ่ายกบฏซีเรียซึ่งคุกคามความอยู่รอดของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งเป็นมิตรสนิทกับรัสเซียมาอย่างยาวนาน

หากติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางมาอย่างต่อเนื่อง จะสังเกตเห็นได้ถึงแนวโน้มการเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งเวลานี้ประกาศจุดยืนคนละขั้วในสงครามซีเรีย และถือเป็นครั้งแรกที่โลกได้เห็นฝูงบินขับไล่ของวอชิงตันและมอสโกออกปฏิบัติการสู้รบในน่านฟ้าประเทศเดียวกัน นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

สงครามกลางเมืองซีเรียที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี 2011 คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่า 250,000 คน ซึ่งชาติตะวันตกชี้ว่า พลเรือนผู้บริสุทธิ์ส่วนใหญ่ถูกสังหารหมู่โดยทหารของอัสซาด และหากอัสซาดยังครองอำนาจต่อไป กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรียคงจะเกิดขึ้นไม่ได้

สหรัฐฯ ยืนกรานว่า อัสซาด ต้องไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรีย ทว่าประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน กลับเรียกร้องให้นานาชาติยอมรับว่า ความเข้มแข็งของรัฐบาลอัสซาดคือกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การกวาดล้างลัทธิหัวรุนแรงสำเร็จได้

ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในซีเรียถือเป็นครั้งแรกที่รัสเซียส่งฝูงบินขับไล่ออกไปทำสงครามนอกประเทศ นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครองอัฟกานิสถานเมื่อปี 1979 ทว่าเมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ รัสเซียก็ได้ส่งรถถังรุ่น T-90 จำนวน 7 คัน ปืนใหญ่จำนวนหนึ่ง และทหารราบกองทัพเรือ (naval infantry soldiers) 200 นายไปยังฐานทัพอากาศในจังหวัดลาตาเกียของซีเรีย รวมถึงสร้างค่ายพักชั่วคราว สถานีควบคุมการจราจรทางอากาศเคลื่อนที่ และระบบป้องกันภัยทางอากาศเตรียมไว้แล้ว

การที่มอสโกเข้าแทรกแซงปัญหาซีเรียยังส่อเค้าจะทำให้เกิดกระทบกระทั่งกับกลุ่มนาโต โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่เครื่องบินขับไล่ SU-30 ของรัสเซียผ่านเข้าไปในน่านฟ้าตุรกีใกล้พรมแดนซีเรีย “เพียงไม่กี่วินาที” เมื่อวันเสาร์ (3 ต.ค.) ซึ่งรัสเซียอ้างว่าเป็น “ความผิดพลาด” ที่เกิดจากสภาพอากาศเลวร้าย ทว่าต่อมากลับมีเครื่องบินของรัสเซียรุกล้ำน่านฟ้าของตุรกีอีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันอาทิตย์ (4 ต.ค.)

เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น “ไม่เหมือนเป็นอุบัติเหตุ” พร้อมเตือนว่าพฤติกรรมของรัสเซีย “เป็นอันตรายอย่างยิ่ง” และยังสะท้อนความเสี่ยงที่สงครามกลางเมืองซีเรียจะขยายวงกว้างออกไป

การบุกรุกน่านฟ้าตุรกีเกิดขึ้นในขณะที่รัสเซียกำลังถูกตะวันตกซักฟอกหนักเรื่องเป้าหมายของปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ โดยมอสโกอ้างว่าเป้าหมายคือกลุ่มไอเอส แต่ข้อมูลที่ออกมากลับชี้ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ถูกโจมตีเป็นฐานกำลังของฝ่ายกบฏที่ต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาด รวมถึงพวกกบฏสายกลางที่ได้รับการฝึกฝนและสนับสนุนอาวุธจากสหรัฐฯ

น่านฟ้าบริเวณเดียวกันนี้เคยเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันมาแล้วในอดีต โดยเมื่อปี 2012 เครื่องบินตุรกีลำหนึ่งถูกกองทัพอากาศซีเรียยิงตกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเมื่อต้นปีนี้กองทัพตุรกีก็ได้ยิงเฮลิคอปเตอร์ของซีเรียตกเช่นกัน โดยกรุงอังการาอ้างว่า “ถูกรุกล้ำน่านฟ้า”

ปูติน เคยประกาศจะไม่ส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปในซีเรีย ทว่าเลขาธิการนาโตยืนยันว่า มีทหารรัสเซียถูกส่งเข้าไปยังซีเรียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ผมยืนยันได้ว่า กองทัพรัสเซียมีการเสริมกำลังในซีเรียจริง ทั้งกองกำลังทางอากาศ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ และทหารภาคพื้นดินที่ถูกส่งเข้าไปปฏิบัติภารกิจเกี่ยวเนื่องกับฐานทัพอากาศที่พวกเขาใช้งานอยู่ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเรือรบเข้าไปประจำการด้วย” สโตลเตนเบิร์กกล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงในตะวันออกกลางหลายคน ซึ่งเผยว่าการโจมตีทางอากาศของรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์เชิงรุก ซึ่งยังรวมถึงปฏิบัติการภาคพื้นดินโดยทหารอิหร่าน กองโจรกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกองทัพอัสซาด เพื่อต่อต้านบรรดาศัตรูของรัฐบาลซีเรีย โดยปฏิบัติการภาคพื้นดินที่ว่านี้จะมี กอสเซ็ม สุลัยมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษกุดส์ (Quds) ที่ขึ้นตรงต่อ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เป็นผู้บัญชาการ

เจ้าหน้าที่ในตะวันออกกลางเผยว่า สุลัยมานีได้เดินทางไปมอสโกเมื่อเดือนกรกฎาคมเพื่อวางแผนปฏิบัติการร่วมในซีเรีย และก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียก็ได้เดินทางเข้าพบ คอเมเนอี และฝ่ายอิหร่านก็ได้ส่งผู้แทนไปพบ ปูติน เพื่อตกลงกันล่วงหน้า

นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซียจัดการถล่มเป้าหมายไปแล้วกว่า 112 จุด และล่าสุดเมื่อวันพุธ (7 ต.ค.) เรือรบรัสเซีย 4 ลำในทะเลแคสเปียนยังยิงจรวดร่อนหลายสิบลูกถล่มเป้าหมายต่างๆ ของไอเอสในซีเรีย แต่ถึงกระนั้นประธานาธิบดี ปูติน ก็ชี้ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงผลลัพธ์ของปฏิบัติการในซีเรีย และสั่งการให้ เซียร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหม เดินหน้าประสานงานกับสหรัฐฯ ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และอิรัก ในประเด็นซีเรีย

ชอยกู ยืนยันว่า รัสเซียพร้อมตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับสหรัฐฯ ในการประสานงานปฏิบัติการต่างๆ ในซีเรียเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งทางทหาร แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์จากปากนายพลหมีขาวคนหนึ่งเรื่องที่วอชิงตันไม่ยอมแบ่งปันข่าวกรองเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของพวกไอเอส ซึ่งเขาบอกว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ กำลังหาข้ออ้างไม่ต่อสู้กับก่อการร้าย

“หุ้นส่วนของเราจากประเทศอื่นๆ ที่เห็นด้วยว่าพวกไอเอสต้องถูกทำลาย ควรให้ความช่วยเหลือเราอย่างกระตือรือร้นในด้านข้อมูลฐานที่มั่น คลังแสง จุดสั่งการ และค่ายฝึกของพวกก่อการร้าย” พลตรี อิกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกของกองทัพรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอาร์ไอเอโนวอสติ

“แต่มีบางประเทศที่เห็นต่างเกี่ยวกับองค์กรก่อการร้ายนี้มาตลอด กำลังหาเหตุผลที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับเราในการต่อสู้กับพวกก่อการร้ายข้ามชาติ” เขาพาดพิงถึงวอชิงตัน

แม้จะมีคำยืนยันจากประธานาธิบดี โอบามา เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ความขัดแย้งในซีเรียจะไม่ลุกลามจนกลายเป็น “สงครามตัวแทน” ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย หากแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็ทำให้ทั่วโลกต้องเฝ้าจับตาว่า จะเกิด “อุบัติเหตุไม่คาดฝัน” ใดๆ หรือไม่ที่ทำให้ 2 มหาอำนาจคู่อริในยุคสงครามเย็นต้องจับอาวุธห้ำหั่นกันอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น