ยุโรปออนไลน์/ASTV ผู้จัดการ - สหภาพยุโรปเมื่อวันพฤหัสบดี (1 ต.ค.) เตือนไต้หวันว่ายังไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอสำหรับจัดการกับประมงผิดกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันก็เลื่อนเวลาตัดสินใจว่าจะให้ “ใบแดง” ห้ามนำเข้าสินค้าประมงของไทยหรือไม่ ออกไปเป็นเดือนธันวาคม ต่อลมหายใจแก่ภาคอุตสาหกรรมประมงของไทยอีกเฮือก ตามหลังความพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
อียูกำลังดำเนินการปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายและปัญหาแรงงานทาส ภายใต้กฎระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งพวกเขาได้ลงโทษห้ามนำเข้าสินค้าประมงจากเรือประมงของกัมพูชา กินีและศรีลังกาไปแล้ว ต่อกรณีที่ประเทศเหล่านี้ล้มเหลวในการปฏิรูปภาคการประมงของตนเอง
ไต้หวันซึ่งส่งออกสินค้าประมงมายังอียูราว 13 ล้านยูโรต่อปี ถูกแจกใบเหลืองในวันพฤหัสบดี( 1 ต.ค.) ฐานล้มเหลวในการดำเนินการอย่างจริงจังเกี่ยวกับกรอบกฎหมายด้านการประมง บทลงโทษยังไม่เพียงพอที่สำหรับยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมายและระบบติดตามเรือระยะไกลยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งตอนนี้พวกเขามีเวลา 6 เดือนที่จะจัดการปัญหาดังกล่าว
หมู่เกาะโคโมรอส ก็โดนให้ใบเหลืองเช่นกันในวันพฤหัสบดี (1 ต.ค.) ขณะที่กานา และปาปัวนิวกินี ได้รับการยกเลิกใบเหลือง หลังดำเนินการปฏิรูปอุตสาหกรรมของตนเอง “การตัดสินใจในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของอียูในการดึงผู้เล่นที่มีบทสำคัญๆเข้าร่วมต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย” นายคาร์เมนู เวลลา กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและการประมงของอียูกล่าวในถ้อยแถลง
ในส่วนของไทย ชาติผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่สุดอันดับ 3 ของโลก เจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการยุโรปรายหนึ่งบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างอียูและไทยนั้นยอดเยี่ยม แต่ชาติในอาเซียนแห่งนี้ยังมีงานทำให้ทำอีกมากเพื่อให้ความพยายามแก้ไขปัญหามีความก้าวหน้า
ไทย ได้รับใบเหลืองในเดือนเมษายน ผลักอุตสาหกรรมประมงของประเทศเข้าสู่ความยุ่งเหยิงและกระตุ้นให้ชาวประมงหยุดออกเรือประท้วง โดยอ้างว่ามาตรการต่างๆที่รัฐบาลออกมาเพื่อหยุดยั้งการทำประมงผิดกฎหมายนั้นไม่ยุติธรรม
ในคำเตือนดังกล่าว อียูได้ให้เวลาไทย 6 เดือน สำหรับเพิ่มความพยายามต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงเจอคว่ำบาตร
ระยะเวลา 6 เดือนดังกล่าวจะสิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางคณะกรรมาธิการยุโรปบอกว่าจะรอจนกว่าเดือนธันวาคม ก่อนตัดสินใจว่าจะขึ้นบัญชีดำการส่งออกอาหารทะเลของไทยหรือไม่ หรือว่ากรุงเทพฯ ได้ให้ความร่วมมืออย่างเพียงพอจนสามารถอนุมัติขยายเวลาแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม “วัตถุประสงค์ของเราไม่ใช่การลงโทษ จุดมุ่งหมายของเราคือเพื่อความยั่งยืนของการประมงทั่วโลก” เจ้าหน้าที่กล่าว