เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลามในออสเตรเลียเตรียมทดสอบเทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งรวมถึงแนวป้องกันไฟฟ้าด้วยคลื่นพลังงาน หลังเกิดเหตุการณ์ฉลามจู่โจมทำร้ายผู้คนบ่อยครั้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ออสเตรเลียคือหนึ่งในประเทศที่เกิดเหตุร้ายจากการจู่โจมของฉลามสูงที่สุดในโลก โดยในวันอังคาร (29 ก.ย.) เหล่านักวิจัยจากทั่วโลกได้มาประชุมกันในซิดนีย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยถึงสิ่งที่ผู้คนในชุมชนหวั่นเกรง
“สิ่งที่เราได้พบเห็นมานั้นมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ไมค์ แบร์ด ผู้ว่าการรัฐนิวเซาท์เวลส์ บอกต่อที่ประชุม ถึงการจู่โจมของฉลามหลายครั้งในชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 7 ราย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์มีนักกระดานโต้คลื่นชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตเพราะถูกฉลามกัดขาขาด รวมถึงยังมีการจู่โจมที่รุนแรงอีกหลายครั้งตามแนวชายฝั่งของรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่มีความยาวมากกว่า 2,000 กิโลเมตร
ตลอดช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ มีฉลามทำร้ายผู้คนไปแล้ว 13 ครั้งในรัฐนิวเซาท์เวลส์ เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2014 ที่มีแค่ 3 ครั้ง
“สุดท้ายเราก็เปลี่ยนจากที่เคยสนุกสนานตามแนวชายฝั่งมาเป็นความกลัว ซึ่งเราจำเป็นจะต้องขจัดความกลัวให้พ้นไป” แบร์ด กล่าวพร้อมทั้งบอกด้วยว่า ฝ่ายบริหารของเขาตั้งใจจะทดสอบเทคโนโลยีบางอย่างที่ได้รับการแนะนำมา ในช่วงฤดูร้อนหน้าที่กำลังจะมาถึง
“กระบวนการตัดสินใจใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบเฉพาะหน้าแบบสิ้นคิด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำประชานิยมใดๆ” เขากล่าว
แบร์ด ผู้เป็นนักกระดานโต้คลื่นที่ปฏิเสธตัวเลือกในการล่าฉลาม ได้ระบุว่า เขาหวังให้ผู้เชี่ยวชาญพบวิธีปกป้องมนุษย์ได้โดยที่สามารถลดการคุกคามต่อชีวิตสัตว์ทะเล ไม่ให้มาติดเข้ากับแนวป้องกันที่เป็นตาข่าย
เทคโนโลยีที่ใช้ยับยั้งสัตว์ทะเลจะถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงการใช้แนวป้องกันไฟฟ้าด้วยคลื่นพลังงาน เช่นเดียวกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่เหล่านักว่ายน้ำและนักกระดานโต้คลื่นสามารถสวมใส่ได้
วิธีการตรวจจับเหล่านั้นจะรวมถึงการใช้กับดักฉลามอัจฉริยะ (สมาร์ท ดรัมไลน์) ซึ่งฉลามจะถูกปลดตะขอเบ็ดขนาดใหญ่ออกก่อนที่มันจะตาย รวมถึงใช้ทุ่นอัจฉริยะ ที่มีเทคโนโลยีโซนาร์ในการตรวจหาวัตถุขนาดเท่าฉลาม
แดริล แม็กพี นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยบอนด์ ผู้ช่วยเหลือฝ่ายบริหารของรัฐในการรวบรวมตัวเลือกต่างๆ ระบุว่า นวัตกรรมในช่วงหลังๆ ได้ทำให้นักวิจัยทำความเข้าใจพฤติกรรมของฉลามได้มากขึ้น
“ฉลามมีสัมผัสที่ 7 เราไม่รู้ชัดเจนหมดทุกอย่างหรอกว่าฉลามมีสัมผัสต่อสภาพแวดล้อมของพวกมันอย่างไร แต่เราก็รู้มากขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน มีความเป็นไปได้ที่เราจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการออกแบบเทคโนโลยีในการยับยั้งที่ดีกว่าเดิม” เขาบอกเอเอฟพี