xs
xsm
sm
md
lg

ทางการสวิสสั่งห้ามจำหน่ายรถเครื่องดีเซลทุกรุ่นของโฟล์คสวาเกน เซ่นพิษข่าวฉาวโกงทดสอบไอเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ทางการสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศในวันเสาร์ (26 ก.ย.) สั่งห้ามการจำหน่ายรถยนต์เครื่องดีเซลทุกรุ่นของค่ายรถดัง โฟล์คสวาเกนของเยอรมนี หลังทางบริษัทก่อเรื่องอื้อฉาวด้วยการใช้กลโกงการทดสอบค่ามลพิษจนกลายเป็นข่าวสะเทือนวงการยานยนต์ไปทั่วโลก

ทางการสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า มาตรการสั่งห้ามการจำหน่ายรถเครื่องยนต์ดีเซลดังกล่าว จะครอบคลุมทั้งรถยนต์ที่ผลิตภายใต้แบรนด์ของโฟล์คสวาเกนเอง รวมถึงแบรนด์อื่น ๆ ที่อยู่ในเครือทั้ง “เซียต” และ “สโคดา” ด้วยเช่นกัน

คำสั่งแบนล่าสุดของทางการแดนนาฬิกา คาดว่า จะส่งผลกระทบต่อรถยนต์ของเครือโฟล์คสวาเกนกว่า 180,000 คันที่ถูกผลิตไว้แล้วทั้งแบบเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร, 1.6 ลิตร และ 2.0 ลิตร เพื่อรอการส่งมาจำหน่ายในสวิตเซอร์แลนด์

ด้าน โธมัส โรห์บาค โฆษกสำนักงานความปลอดภัยทางท้องถนนของรัฐบาลกลางสวิส ออกมาระบุเพิ่มเติมว่า มาตรการห้ามจำหน่ายรถยนต์เครื่องดีเซลดังกล่าวจะมีผลครอบคลุมรถทุกรุ่นของกลุ่มโฟล์คสวาเกน ที่รองรับระบบปล่อยมลพิษแบบ “ยูโร 5” แต่ไม่ครอบคลุมถึงรถที่ถูกผลิตเพื่อรองรับระบบการวัดมลพิษแบบ “ยูโร 6” ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดในการควบคุมการปล่อยไอเสียของทางสหภาพยุโรป (อียู)

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางการสวิสมีขึ้นภายหลังจากที่ “โฟล์คสวาเกน” ค่ายยานยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งเยอรมนี ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นค่ายรถที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก (รองจากโตโยต้า) และใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของยุโรปในเวลานี้ ตกเป็นข่าวสุดอื้อฉาวในกรณี “โกง” การทดสอบค่าไอเสีย ซึ่งว่ากันว่า กลโกงที่ค่ายรถดังแห่งเมืองเบียร์นำมาใช้นี้ทำเอาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกถึงกับสั่นสะเทือน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างเลวร้ายถึงขีดสุด

เมื่อวันอังคารที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา โฟล์คสวาเกน (Volkswagen : VW) ค่ายรถใหญ่อันดับสองของโลกซึ่งก่อตั้งกิจการมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1937 และมีฐานอยู่ที่เมืองโวล์ฟสบวร์ก ในแคว้นโลเวอร์ แซกโซนีของเยอรมนีออกคำแถลงช็อกโลก ยอมรับว่า มีการติดตั้งอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ ซึ่งสามารถโกงการทดสอบค่าไอเสียของรถได้ในยานยนต์แบบเครื่องยนต์ดีเซลของบริษัท ที่ส่งไปจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำนวนมากถึง 11 ล้านคัน

การออกคำแถลงสารภาพความผิดของทางโฟล์คสวาเกนมีขึ้นราว 4 วัน หลังจากที่ข่าวการโกงทดสอบค่าไอเสียดังกล่าวถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา โดยทางสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า “อีพีเอ” ซึ่งได้จับมือกับทางหน่วยงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกมาแถลงว่า ตรวจสอบพบรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลราว 482,000 คันซึ่งผลิตในอเมริกาโดยกลุ่มโฟล์คสวาเกน เกี่ยวข้องกับเรื่องกลโกงสุดอื้อฉาวครั้งนี้


ข้อมูลที่ถูกตรวจสอบพบโดยสำนักงานอีพีเอ และหน่วยงานสิ่งแวดล้อมแห่งแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า รถยนต์ที่พบปัญหาอื้อฉาวนี้มีทั้งยี่ห้อ ออดี้ ในรุ่น เอ 3 รวมถึงยานยนต์ภายใต้แบรนด์ของโฟล์คสวาเกนอีกหลายต่อหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพาสสาท, กอล์ฟ และบีเทิล

รายงานระบุว่า ทางโฟล์คสวาเกน ยอมรับว่า ได้ทำการติดตั้งซอฟต์แวร์โกงค่าไอเสีย ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษในรถจำนวน 11 ล้านคันดังกล่าว โดยที่ซอฟต์แวร์ที่ว่านี้จะไปปิดระบบควบคุมมลพิษ ระหว่างที่มีการขับขี่ตามปกติ และจะเปิดระบบก็ต่อเมื่อได้ตรวจพบว่ารถยนต์คันนั้น ๆ กำลังถูกตรวจสอบการปล่อยไอเสียอยู่เท่านั้น

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ในระหว่างที่ระบบควบคุมไอเสียถูกปิดกั้นการทำงานโดยซอฟต์แวร์อยู่นั้น รถของโฟล์คสวาเกนอาจปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษ ซึ่งรวมถึงก๊าซพิษจำพวกไนโตรเจนออกไซด์ ออกสู่อากาศในปริมาณที่สูงลิ่วถึง “40 เท่า” ของมาตรฐานการปล่อยไอเสียตามปกติเลยทีเดียว

ในส่วนของกลุ่มโฟล์คสวาเกนเองแม้จะมีการออกคำแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการจาก มาร์ติน วินเทอร์คอร์น (Martin Winterkorn) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ในวัย 68 ปี ซึ่งนั่งเก้าอี้ตัวนี้มาตั้งแต่ปี 2007 แต่กลโกงสะท้านโลกที่ถูกเปิดโปงออกมานี้ ส่งผลให้ ซีอีโอชาวเยอรมันรายนี้ต้อง “ชะตาขาด” และต้องกระเด็นตกเก้าอี้ก่อนหมดวาระในปี 2018 หลังมีการแต่งตั้งมัทธิอัส มุลเลอร์ ผู้บริหารของแบรนด์รถหรู “ปอร์เช” เข้ามารับหน้าที่แทนเมื่อวันศุกร์ (25 ก.ย.) ที่ผ่านมา