เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ทางการคูเวตเผยยอดการขาดดุลงบประมาณในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน พุ่งสูงแตะระดับ 3,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 131,350 ล้านบาท) จากผลพวงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดต่ำลงต่อเนื่อง
รายงานข่าวล่าสุดจากกรุงคูเวต ซิตี้ ซึ่งอ้าง อานาส อัล-ซาเลห์ รัฐมนตรีคลังของคูเวตระบุว่า ยอดการขาดดุลงบประมาณของประเทศตนในช่วง 5 เดือนแรกนับจากเริ่มปีงบประมาณปัจจุบันเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา ได้เพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับ 3,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 131,350 ล้านบาท) ไปแล้ว จากผลพวงของราคาน้ำมันที่ตกต่ำดำดิ่งในตลาดโลกซึ่งทำให้รายได้ของรัฐบาลคูเวตหดหาย
รัฐมนตรีคลังของคูเวตระบุว่า ทางการคูเวตกำลังพิจารณามาตรการที่หลากหลายที่จะนำมาบังคับใช้เพื่อลดทอนผลกระทบด้านงบประมาณที่เกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ การตัดลดการใช้จ่าย-การลงทุนภาครัฐ ตลอดจนการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อระดมเงินทุนมาชดเชยรายรับที่ขาดหายไป
ความเคลื่อนไหวล่าสุดมีขึ้นหลังจากที่ชีคห์ ซาบาห์ อัล-อาเหม็ด อัล-ซาบาห์ เจ้าผู้ครองรัฐของคูเวต ทรงออกโรงเตือนโดยระบุ ราคาน้ำมันที่ยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก เปรียบเสมือน “เงามืด” ที่กำลังย่างกรายเข้าปกคลุมเศรษฐกิจของสมาชิกกลุ่ม “โอเปก” รวมถึงคูเวต พร้อมแนะ ถึงเวลาแล้วที่ต้องลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียวในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ
ชีคห์ ซาบาห์ ในวัย 85 พรรษา ซึ่งทรงก้าวขึ้นครองอำนาจในฐานะ “เจ้าผู้ครองรัฐพระองค์ที่ 5” ของคูเวตตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมปี 2006 กล่าวที่กรุงคูเวต ซิตี้ โดยระบุว่าถึงเวลาแล้วที่คูเวตและประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมรายใหญ่ของโลกจะต้อง “เลิกพึ่งพา” รายได้จากการขายน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียวในการพัฒนาประเทศ และควรเร่งหาทางสร้างแหล่งรายได้ที่หลากหลายสำหรับใช้หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของตนในอนาคต
“การดิ่งลงของราคาน้ำมัน ไม่ต่างจากเงามืด ที่กำลังย่างกรายเข้าปกคลุมเศรษฐกิจและอนาคตของเรา ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกโอเปกทั้งหลาย ต้องมองหาหนทางอื่นในการพัฒนาเศรษฐกิจแทนการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน เราต้องเร่งหาทางปกป้องเศรษฐกิจ และสร้างหลักประกันให้กับลูกหลานของเราในอนาคต ในวันที่เราไม่มีน้ำมันเหลืออยู่แล้ว” ชีคห์ ซาบาห์ตรัส
ท่าทีล่าสุดขององค์เอมีร์แห่งคูเวตมีขึ้นหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในกว่า 5 ปี และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนักระหว่างสมาชิกกลุ่มโอเปกในเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อให้มีน้ำมันออกสู่ตลาดโลกลดน้อยลง และผลักราคาน้ำมันให้ปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของรัฐบาลคูเวตที่มีการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ในขณะนี้รายได้จากการส่งออกน้ำมันมีสัดส่วนคิดเป็น “เกือบครึ่งหนึ่งของจีดีพี” ของคูเวต และถือเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ