xs
xsm
sm
md
lg

รมต.มหาดไทยอียูเห็นชอบแผนแบ่งโควตาผู้อพยพ 120,000 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลื่นผู้อพยพกำลังไหลบ่าข้ามพรมแดนฮังการีไปยังออสเตรีย ขณะที่สหภาพยุโรปเมื่อวันอังคาร(22ก.ย.) เห็นชอบแผนแบ่งโควต้ารับผิดชอบผู้อพยพ 120,000 คนไปทั่ว 28 ชาติสมาชิก เอาชนะเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจาก 4 ประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออก
รอยเตอร์ - สหภาพยุโรปเมื่อวันอังคาร (22 ก.ย.) เห็นชอบแผนแบ่งโควต้ารับผิดชอบผู้อพยพ 120,000 คนไปทั่ว 28 ชาติสมาชิก เอาชนะเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจาก 4 ประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออก

เหล่าผู้แทนทูตเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมหาดไทยอียูในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ลงมติดำเนินแผนการนี้ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากเยอรมนีและชาติยักษ์ใหญ่อื่นๆ เพื่อจัดการกับวิกฤตผู้อพยพของทวีปยุโรปครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

รัฐมนตรีจากสาธารณรัฐเช็กทวีตว่า เขาโหวตคัดค้าน เช่นเดียวกับสหายจากสโลวาเกีย โรมาเนียและฮังการี ส่วนฟินแลนด์นั้นงดออกเสียง

ก่อนหน้านี้ ปรากเคยเตือนว่าความพยายามใดๆสำหรับเห็นชอบมาตรการดังกล่าวจะไม่ได้ผลและอาจจบลงด้วยการที่เหล่ารัฐบาลชาติต่างๆ และเจ้าหน้าที่อียูถูกหัวเราะเยาะเย้ย “ไม่นานเราจะพบความจริง วันนี้เราได้สุญเสียความสมเหตุสมผลไปแล้ว” มิลาน โชวาเนค รัฐมนตรีมหาดไทยสาธารณรัฐเช็กกล่าว

การหลั่งไหลเข้ามาในปีนี้ของผู้อพยพเกือบ 500,000 คน ที่หลบหนีภัยสงครามและความขัดสนจากตะวันออกกลาง เอเชียและแอฟริกา ฉุดให้อียูเข้าสู่ความขัดแย้งเกี่ยวกับการควบคุมชายแดนและกล่าวโทษกันไปมาต่อแนวทางการแบ่งปันความรับผิดชอบ

เหล่าชาติยุโรปตะวันออก แสดงความกังวลต่อผลกระทบทางสังคมต่อการไหลบ่าเข้ามาของชาวมุสลิมจำนวนมาก และต้องการหลีกเลี่ยงการส่งสัญญาณใดๆ ที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนตะเกียกตะกายล่องเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนข้ามฝั่งมายังยุโรปเพิ่มเติม

“เราล้มเหลวในการหาทางออกที่เหมาะสมในระยะยาว วิกฤตผู้อพยพอาจเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อความอยู่รอดของสหภาพยุโรป แต่ผมไม่ใช่พวกมองโลกในแง่ร้าย ผมเชื่อว่าเราจะพบมาตรการต่างๆ ร่วมกัน” นายมิโร เซราร์ นายกรัฐมนตรีสโลวีเนีย ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์

เดิมทีเหล่ารัฐมนตรีหวังประสบความสำเร็จได้ความเห็นที่สอดคล้องกัน ณ ที่ประชุมในวันอังคาร (22 ก.ย.) มากกว่าที่จะยัดเยียดผ่านการลงคะแนนโหวต ซึ่งฟากยุโรปตะวันออกเป็นเสียงข้างน้อยอยู่แล้ว ด้วยความกังวลว่าอาจทำให้ความสัมพันธ์ถูกกัดกร่อน

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ( UNHCR) ระบุว่าหากดูจากระลอกคลื่นของผู้ลี้ภัยที่ไหลบ่ามาในแต่ละวัน จำนวนผู้อพยพ 120,000 คนที่ทางสหภาพยุโรปพยายามแบ่งปันภาระ เทียบเท่ากับยอดรวมผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาแค่ในระยะเวลา 20 วันเท่านั้น “มาตรการโยกย้ายผู้อพยพยังไม่เพียงพอ ในขั้นนี้ของวิกฤต มันคงไใม่เพียงพอที่จะสร้างความเสถียรแก่สถานการณ์” โฆษกของ UNHCR ระบุ

เหล่าผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาถึงกรีซและอิตาลี พากันไหลบ่าขึ้นไปทางเหนือเพื่อมุ่งหน้าสู่ประเทศที่มั่งคั่งมากกว่าอย่างเช่นเยอรมนี กระพือการโต้เถียงระหว่างรัฐบาลชาติต่างๆ ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ขณะที่พวกเขาพยายามขัดขวางการหลั่งไหลหรือเมินแบ่งเบาภาระจากชาติเพื่อนบ้าน

นอร์เวย์คือประเทศล่าสุดของ 26 ชาติสมาชิกเขตเชงเกนของยุโรป เขตที่ผู้คนสามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่งเสรีโดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต ที่บอกว่าจะควบคุมชายแดนเข้มงวดยิ่งขึ้น ส่วนเยอรมนี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอมนิยมของผู้ลี้ภัย ทางหัวหน้าหน่วยข่าวกรองแสดงความกังวลใหญ่หลวงว่าพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงในประเทศจะพยายามเกณฑ์ผู้ลี้ภัยวัยรุ่นที่ตกเป็นเหยื่อได้ง่ายเข้าเป็นพวก


กำลังโหลดความคิดเห็น