เอเอฟพี – พรรคฝ่ายซ้ายไซรีซาของกรีซกวาดคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในศึกเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันอาทิตย์ (20 ก.ย.) ส่งผลให้ อเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีฝ่ายซ้าย ยังคงครองเก้าอี้ผู้นำประเทศต่อเป็นสมัยที่ 2 ได้อย่างสง่างาม แม้จะเคยถูกประชาชนตั้งคำถามจากการยอมทำข้อตกลงเงินกู้และรับมาตรการรัดเข็มขัดจากองค์กรเจ้าหนี้ยุโรปก็ตาม
จากผลคะแนนที่นับไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์พบว่า พรรคไซรีซาของ ซีปราส ได้รับคะแนนโหวต 35.53 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างพรรคฝ่ายค้าน “นิว เดโมเครซี” ซึ่งยึดแนวทางอนุรักษ์นิยมได้ไปเพียง 28.05 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ ซีปราส มีโอกาสจับขั้วกับพรรค อินดิเพนเดนต์ กรีกส์ สายชาตินิยมจัดตั้งรัฐบาลผสมเหมือนที่เคยทำมาแล้วเมื่อเดือนมกราคมปีนี้
วานเจลิส เมมารากิส ผู้นำพรรค นิว เดโมเครซี ออกมาประกาศยอมรับความพ่ายแพ้แล้ว
“ดูเหมือนพรรคไซรีซาของคุณ ซีปราส จะมาเป็นที่หนึ่ง ผมขอแสดงความยินดีด้วย” เมมารากิส วัย 61 ปี ซึ่งเป็นทนายความและอดีตรัฐมนตรีกลาโหม กล่าว
ความพ่ายแพ้ของ เมมารากิส ถือเป็นการปิดฉากยุคสมัยซึ่งพรรคสายอนุรักษ์นิยมและโซเชียลลิสต์สลับกันครองอำนาจในรัฐสภาเอเธนส์มานานหลายสิบปี
จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้อยู่ที่ราวๆ 56 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าเมื่อเดือนมกราคมซึ่งพบว่ามีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์มากถึง 6 ใน 10 ตามข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยกรีซ
ซีปราส ได้ขึ้นเวทีประกาศชัยชนะต่อผู้สนับสนุนหลายพันคนที่จัตุรัสใจกลางกรุงเอเธนส์ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุในช่วงเย็น โดยระบุว่า ชัยชนะครั้งนี้จะเป็นการ “หมุนวงล้อ” และ “เปลี่ยนสมดุล” ในยุโรป
ซีปราส เป็นนายกรัฐมนตรีหน้าละอ่อนที่อายุน้อยที่สุดของกรีซในรอบ 150 ปี โดยชูนโยบายต่อต้านมาตรการขัดเข็มขัดในสหภาพยุโรป
“ยุโรปจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังจากที่ประชาชนของเราได้รับชัยชนะในวันนี้” เขากล่าว ก่อนที่กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคไซรีซาจะเปล่งเสียงร้องเพลิงปฏิวัติอิตาลี “บันดิเอรา รอสซา” ซึ่งหมายถึง “ธงแดง”
อย่างไรก็ตาม ซีปราส ยอมรับว่า การปฏิบัติตามข้อตกลงปฏิรูปการคลังอย่างเข้มงวดตลอด 4 ปีข้างหน้าจะไม่ใช่เรื่องง่าย
“เรายังมีความลำบากรอคอยอยู่เบื้องหน้า... การฟื้นฟูประเทศไม่อาจสำเร็จได้ด้วยเวทย์มนตร์ แต่ต้องอาศัยการทำงาน ความมุ่งมั่น และการดิ้นรนต่อสู้”
ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส และ มาร์ติน ชุลซ์ ประธานรัฐสภายุโรป ซึ่งต่างเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายด้วยกันทั้งคู่ ได้ออกมาแสดงความยินดีกับชัยชนะครั้งที่ 2 ในรอบปีของ ซีปราส
“กรีซจะกลับคืนสู่เสถียรภาพด้วยเสียงส่วนใหญ่ที่เข้มแข็ง” ออลลองด์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ผลนับคะแนนเบื้องต้นบ่งชี้ว่า รัฐบาลผสมชุดใหม่ของ ซีปราส คงจะกุมเสียงเกินครึ่งสภามาเพียงเล็กน้อย คือ 155 จากทั้งหมด 300 ที่นั่ง ลดลงจากในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมซึ่งฝ่ายรัฐบาลครองที่นั่ง ส.ส. 162 ที่นั่ง
ซีปราส ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม และประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนดเพื่อวัดใจพลเมืองกรีซว่าจะยังมอบอาณัติให้เขาได้เป็นผู้นำประเทศต่อหรือไม่ หลังจากที่ผิดคำมั่นสัญญาเรื่องไม่เอามาตรการรัดเข็มขัด และยอมทำข้อตกลงรับเงินกู้งวดที่ 3 จากผู้นำสหภาพยุโรป
ซีปราส แก้ต่างให้ตัวเองว่า สิ่งที่ทำลงไปเป็นการช่วยกรีซให้รอดจากการถูกขับออกจากยูโรโซน แต่ถึงกระนั้นกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคไซรีซาส่วนหนึ่งก็ยังเมินหน้าหนี และยังสร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ภายในพรรคเมื่อกลุ่ม ส.ส. ฮาร์ดไลน์ที่ต่อต้านยูโรโซนราว 1 ใน 5 ได้ขอแยกตัว จนทำให้ ซีปราส ต้องตัดสินใจประกาศเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 5 ในรอบ 6 ปี
ซีปราส เดินกลับสู่สนามเลือกตั้งโดยเผชิญการท้าทายครั้งสำคัญจาก เมมารากิส ซึ่งพยายามโจมตีเรื่องที่นายกฯ “ยูเทิร์น” กลับไปซบอกเจ้าหนี้ รวมถึงสภาพความปั่นป่วนในช่วงครึ่งปีแรกที่ ซีปราส กุมบังเหียนประเทศ
มีชาวกรีซมากกว่า 9.8 ล้านคนลงทะเบียนแสดงความจำนงที่จะลงคะแนนเลือกตั้งคราวนี้ โดยที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเผชิญกับภารกิจอันหนักหน่วงสาหัส ทั้งการผลักดันการขยับขึ้นภาษีใหม่ๆ และการปฏิรูประบบบำนาญอันจะทำให้ผู้คนจำนวนมากเดือดร้อนไม่พอใจ ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาล ซีปราส ได้ไปตกลงเอาไว้ และรัฐสภาชุดเดิมก็ได้ลงมติรับรองในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา