xs
xsm
sm
md
lg

บทบรรณาธิการวอชิงตันโพสต์ถล่ม “พลเอกประยุทธ์” ลิดรอนเสรีภาพสื่อ “เรียกปรับทัศนคติ” กดดันนักข่าวไทยจนลาออก แต่กลับแท้ง “รธน.ใหม่” ที่ร่างมากับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/เอพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – มาตรการปรับทัศนคติของรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่าสุดทำให้บทบรรณาธิการของหนังสือวอชิงตันโพสต์ถึงกับต้องตั้งคำถามในเรื่องการลิดรอนเสรีภาพของสื่อ ที่ล่าสุด ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ต้องยื่นใบลาออก และยังรวมไปถึงร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เพิ่งคลอดแต่ต้องถูกทำแท้งก่อนที่จะได้มีโอกาสได้ใช้ และทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายังคงสามารถยังอยู่ในอำนาจได้ต่อไปได้อีก หลังจากที่กระบวนการทั้งหมดต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยต้องเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปออกไปถึงปลายปีหน้า

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานในวันที่ 15 กันยายนล่าสุดในบทบรรณาธิการถึง ความชอบธรรมของผู้นำรัฐบาลทหารของไทยในการบริหารประเทศ และการใช้มาตรการปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่างที่เรียกกันว่า “ปรับทัศนคติ” ซึ่งล่าสุดเอพีรายงานเมื่อวานนี้(16)ว่า “ประวิตร โรจนพฤกษ์” ผู้สื่อข่าวอาวุโสเนชั่น ที่ถูกเรียกตัวไปพบเพื่อการปรับทัศนคติในการวิจารณ์รัฐบาลว่า เขาได้ยื่นใบลาออกแล้ว

โดยเอพีระบุว่าประวิตรเปิดเผยว่าถูกค่ายหนังสือพิมพ์ของตัวเองกดดันจนต้องยื่นใบลาออก ซึ่งประวิตรยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เป็นเพราะถูกสื่อหนังสือพิมพ์ไทยภาคภาษาอังกฤษ “เดอะ เนชั่น”กดดันจากการที่เขาถูกเรียกไปกักตัว ซึ่งความกดดันที่ประวิตรอ้างนี้ มาจากทั้งภายในสำนักพิมพ์และจากภายนอก

อย่างไรก็ตาม ประวิตรไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอย่างเจาะจงว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้“เดอะ เนชั่น” ได้รับความกดดัน นอกเหนือไปจากการได้รับโทรศัพท์จากบางกลุ่มที่ออกมาทำการประท้วง

เอพีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า นักข่าวอาวุโสของเดอะเนชั่นระบุว่า เขาตกลงใจยอมที่จะยื่นใบลาออกเอง เพราะไม่ต้องการให้หนังสือพิมพ์ “เดอะเนชั่น” ที่ประวิตรรักและคิดว่าเป็นเสมือนบ้านต้องถูกทำลาย

“ขอขอบคุณ “เดอะเนชั่น” ในทุกสิ่ง ซึ่งหลังจากได้พูดคุยกับฝ่ายบริหารแล้ว ผมตกลงใจที่จะลาออกเพื่อรักษาองค์กรนี้ไว้ไม่ให้ถูกกดดันต่อไปในอนาคต” ประวิตรเปิดเผยความในใจผ่านทวิตเตอร์

ซึ่งในมาตรการปิดปากสื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ใช้คำพูดสวยหรูว่า “ปรับทัศนคติ” นี้ หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้ถามกลับไปถึงประชาชนชาวไทยว่า ถึงเวลาหรือยังที่ต้องตั้งคำถามกับผู้นำประเทศที่มาจากการทำรัฐประหาร เป็นต้นว่า “ท่านนายพล” เหตุใดจึงต้องเสียเวลาตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสะท้อนประชาธิปไตยจอมปลอม แต่กลับชี้นำสภาปฎิรูปแห่งชาติที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นผู้ตั้งมากับมือให้ลงมติคว่ำไม่รับ และทำให้กระบวนการคืนประชาธิปไตยให้ประเทศต้องกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์อีกครั้ง

และสื่อสหรัฐฯยังชี้ต่อว่า หรือประชาชนชาวไทยอาจตั้งข้อสงสัยต่อนายกรัฐมนตรีของพวกเขาเป็นต้นว่า เหตุใดเศรษฐกิจของประเทศอันเป็นที่รักจึงยังชะงักงัน และอาจรวมไปถึงคำถามในประเด็นความมั่นคงในเรื่องการจัดการระเบิดราชประสงค์ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าสื่อวอชิงตันโพสต์เรียกว่า เป็นผลงานของผู้ก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม บทบรรณาธิการของวอชิงตันโพสต์ระบุว่า ขอให้พึงระวังต่อผู้ที่ต้องการตั้งประเด็นคำถามเหล่านี้ เพราะอาจโดนลงโทษ และถูกเรียกเพื่อ “ปรับทัศนคติ” ก็เป็นได้ และจะต้องโดนกักตัวเหมือนเช่น ประวิตร นักข่าวอาวุโสเดอะเนชั่นเคยได้รับ และจะได้รับการปล่อยตัวก็ต่อเมื่อยินยอมลงนามในข้อตกลง “จะไม่วิจารณ์ทางการเมือง” เหมือนอย่างเช่น 3 คนก่อนหน้านั้นที่ถูกเรียกไปกล่อมเกลาและถูกปล่อยตัว

นอกจากนี้สื่อสหรัฐฯยังจี้ไปถึงประเด็นร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เพิ่งตกไปว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาเกือบ 10 เดือนในการจัดทำและทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายังคงสามารถบริหารประเทศในฐานะผู้นำได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับต้องตกไปในที่สุด ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเนื้อหา พบว่ามีสาระสำคัญที่การควบคุมพรรคการเมืองอย่างเคร่งครัดโดยมีเป้าหมายเพื่อขัดขวางการกลับมามีชัยในการเลือกตั้งอีกครั้งของพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชิณวัตร ที่ได้ชนะการเลือกตั้งติดต่อกันถึง 15 ปีเต็ม

และวอชิงตันโพสต์ยังชี้ต่อว่า และในส่วนวุฒิสภาที่มีสมาชิกจำนวนหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือองค์กรที่ถูกจัดตั้งใหม่ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ” หรือ “crisis committee” ที่มีบรรดานายทหารระดับสูงจำนวนมากอยู่ในนั้น และยังมีอำนาจสามารถเข้ามาแทรกแซง และควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อใดก็ตามที่เห็นว่ามีความจำเป็น ซึ่งถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เคยให้ความเห็นจากการรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในวันที่ 13 สิงหาคมล่าสุดว่า “เป็นเสมือนให้อำนาจกองทัพทำปฎิวัติโดยไม่ต้องเคลื่อนรถถังออกมา”

และในทันทีที่กรอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสร็จ สภาปฏิรูปแห่งชาติได้มีมติไม่รับในทันที ซึ่งสื่อสหรัฐฯชี้ว่า ตัวแทนที่นั่งอยู่ในสภาที่มาจากกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกือบทั้งงหมด ต่างพร้อมใจลงคะแนนไม่เห็นชอบ และคว่ำร่างนี้ ซึ่งวอชิงตันโพสต์ชี้ว่า ดูเหมือนจะเป็นการลงมติที่ได้รับใบสั่งลงมาให้โหวตไม่รับ ในขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ทางการเมืองต่างฉงนถึงเหตุที่เกิดขึ้น หรือบางทีกองทัพอาจจะคิดได้ว่า ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับเพิ่งคลอดนี้ อย่างไรก็ตามคงไม่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชนในการลงประชามติเป็นแน่ หรือบางทีอาจเป็น…การตั้งเงื่อนไขเพื่อถ่วงเวลาเพื่อบางวัตถุประสงค์

และเหมือนอย่างที่คาด กำหนดการเลือกตั้งที่นายกรัฐมนตรีไทยได้เคยรับปากไว้ ต้องถูกเลื่อนกำหนดออกไป ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดได้อย่างเร็วที่สุดในปลายปี 2016 ไปแล้ว และทำให้สื่อสหรัฐฯประเมินว่า ในกรณีที่เป็นบวกมากที่สุด ไทยยังคงต้องตกในสภาพการณ์ชะงักกันต่อไป แต่ถ้าหากในกรณีลบแล้ว สถานการณ์นี้ยังถึงขั้นเป็นสาเหตุปะทุความไม่สงบเกิดขึ้น และยังรวมไปถึงการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตามในตอนท้าย วอชิงตันโพสต์ระบุเป็นนัยว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะบังคับใช้มาตรการ “เรียกปรับทัศนคติ” ด้วยจากคำให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเองที่ว่า “หากคุณปล่อยให้พวกเขาวิจารณ์ผม ประชาชนและสังคมที่ฟังคนเหล่านี้พูดทุกวันก็จะคล้อยตามในที่สุด และในวันหนึ่งคนเหล่านี้จะเชื่อทุกอย่างในสิ่งที่คนเหล่านั้นพูด” โดยพลเอกประยุทธ์ได้ตอบคำถามนี้เองว่าเหตุใดจึงไม่มีประโยชน์ในการใช้มาตรการมัดปากเช่นนี้ที่ว่า “เราเชื่อว่า มีคนจำนวนมากแล้วที่หลงเชื่อ”






กำลังโหลดความคิดเห็น