เอเอฟพี – สถาบันวิจัยในสหรัฐฯ เตือน โสมแดงอาจมีโรงงานแยกไอโซโทปวัสดุกัมมันตรังสี ซึ่งจะช่วยให้สามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ที่มีความซับซ้อนและอานุภาพร้ายแรงยิ่งกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด หลังจากที่เปียงยางออกมาประกาศวานนี้ (15) ว่า โรงงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่เมืองยองเบียนกลับมาเดินเครื่องเต็มสูบแล้ว
ผู้อำนวยการสถาบันพลังงานปรมาณูของเกาหลีเหนือแถลงวานนี้ (15)ว่า หน่วยปฏิบัติการทุกหน่วยภายในโรงงานนิวเคลียร์ยองเบียน ซึ่งรวมถึงโรงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมและเตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นเครื่องมือหลักของโสมแดงในการผลิตยูเรเนียมเกรดอาวุธ “ได้เริ่มดำเนินงานตามปกติแล้ว” พร้อมระบุด้วยว่า อาวุธนิวเคลียร์โสมแดงกำลังได้รับการพัฒนาปรับปรุง “ทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณ”
ประกาศดังกล่าวมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านอวกาศของเกาหลีเหนือออกมาแถลงเป็นนัยๆ ว่า อาจมีการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปีการก่อตั้งพรรคแรงงาน ซึ่งสหรัฐฯและชาติพันธมิตรเชื่อว่าเป็นความพยายามของโสมแดงที่จะอำพรางการทดสอบจรวดพิสัยไกล เพื่อนำไปสู่การผลิตขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์
คำแถลงทั้ง 2 ครั้งถูกมองว่าเป็นการข่มขวัญผู้ฟังทั้งในและต่างประเทศ เหมือนที่เกาหลีเหนือขู่เสมอว่าอาจยิงอาวุธนิวเคลียร์ไปถล่มแผ่นดินสหรัฐฯ “เมื่อใดก็ได้”
ทั้งนี้ คาดว่าศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของโสมแดงน่าจะเป็นวาระสำคัญที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ของจีน จะได้หารือกันในการประชุมซัมมิตที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 25 กันยายนนี้
สถาบันวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ (ISIS) ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า โรงงานนิวเคลียร์ยองเบียนเปิดดำเนินงานอย่างเต็มศักยภาพทุกหน่วยแล้วจริงหรือไม่ แต่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์และโรงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมได้เริ่มปฏิบัติงานแล้ว อย่างน้อยก็เป็นพักๆ
ISIS ยังเตือนให้นานาชาติเฝ้าระวังหน่วยปฏิบัติการที่เรียกว่า “ฮอตเซลล์” ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ภายในโรงงานนิวเคลียร์ยองเบียน ซึ่งอาจจะถูกใช้เพื่อแยกไอโซโทปของวัสดุกัมมันตรังสีที่เตาปฏิกรณ์ผลิตได้
“จากการศึกษาวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา พบสัญญาณบ่งบอกว่าอาคารดังกล่าวน่าจะถูกใช้เพื่อแยกไอโซโทป รวมถึงแยกทริเทียม (tritium) ด้วย” สถาบันวิจัยแห่งนี้เผย
ทริเทียมเป็นไอโซโทปหนึ่งของธาตุไฮโดรเจน และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบอาวุธนิวเคลียร์ความร้อนที่ให้ผลทำลายล้างสูงยิ่งกว่าอาวุธซึ่งผลิตจากพลูโตเนียมและยูเรเนียม
เกาหลีเหนือเคยทดลองระเบิดนิวเคลียร์มาแล้ว 3 ครั้งในปี 2006, 2009 และ 2013 สองครั้งแรกเป็นการทดลองด้วยระเบิดพลูโตเนียม ส่วนครั้งที่ 3 ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าน่าจะเป็นระเบิดที่ใช้ยูเรเนียมเป็นวัสดุฟิสไซล์ ทว่าไม่สามารถยืนยันได้แน่นอน
“เกาหลีเหนือใช้ทริเทียมผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้แล้วหรือยังเป็นสิ่งที่เราตอบไม่ได้ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะยังเป็นปัญหาทางเทคนิคสำหรับพวกเขาอยู่... และคงจะต้องมีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินอีกหลายครั้ง” ISIS ระบุ
หากเกาหลีเหนือยิงดาวเทียมอีกครั้งในวาระครบรอบ 70 ปีพรรคแรงงานเกาหลีตามที่หลายฝ่ายคาดหมาย โอกาสที่เปียงยางจะทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 4 ในเร็วๆนี้ ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้สูง
เกาหลีเหนือยิงจรวดอึนฮา-3 นำดาวเทียมสำรวจขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จเมื่อเดือนธันวาคมปี 2012 และหลังจากนั้นอีกเพียง 2 เดือน การทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 ก็อุบัติขึ้น
สหรัฐฯ แถลงเตือนวานนี้ (15) ให้โสมแดงหลีกเลี่ยง “พฤติกรรมยั่วยุที่ไร้ความรับผิดชอบ” ซึ่งมีแต่จะทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคตึงเครียดขึ้น ขณะที่โฆษกทำเนียบขาว โจช เออร์เนสต์ ก็แนะให้ผู้นำเกาหลีเหนือหันมาปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อนานาชาติอย่างจริงจัง