xs
xsm
sm
md
lg

OECD ยืนยันคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนไม่ได้ทำให้นักเรียนเก่งมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i><b>รายงานการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ชี้ว่า การให้นักเรียนใช้คอมพิวเตอร์ในโรงเรียน  ไม่ได้ทำให้ผลการเรียนของพวกเขาดีขึ้นมาอย่างชัดเจน </i></b>
เอเอฟพี - องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) หน่วยงานคลังสมองชื่อโด่งดังของพวกประเทศพัฒนาแล้ว ระบุว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้ช่วยทำให้ผลการเรียนของเด็กนักเรียนกระเตื้องดีขึ้นอย่างชัดเจนอะไรเลย ทั้งนี้ตามรายงานฉบับล่าสุดนำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (15 ก.ย.) ซึ่งมุ่งศึกษาถึงผลกระทบของเทคโนโลยีภายในห้องเรียนของโรงเรียนต่างๆ ทั่วโลก

ขณะที่เกือบ 3 ใน 4 ของนักเรียนในประเทศต่างๆ ที่ทำการสำรวจคราวนี้ต่างก็ได้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กันภายในโรงเรียน แต่รายงานฉบับนี้ของโออีซีดีกลับพบว่า เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยให้ผลการเรียนปรับปรุงกระเตื้องขึ้นอย่างโดดเด่น

ตรงกันข้าม ในหลายๆ ส่วนของเอเชีย ซึ่งนักเรียนมีผลการเรียนดีมาก และก็เป็นอาณาบริเวณซึ่งโทรศัพท์สมาร์ทโฟนกับเคอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้วนั้น เทคโนโลยีกลับปรากฏตัวให้เห็นในห้องเรียนของประเทศและดินแดนเหล่านี้ในระดับที่น้อยนิด
<i><b>กราฟฟิกที่บีบีซีจัดทำขึ้นจากรายงานของโออีซีดี  แสดงให้เห็น 5 ประเทศและดินแดนที่นักเรียนได้ใช้คอมพิวเตอร์ในแต่ละวันสูงที่สุด (Top 5) ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย, เดนมาร์ก, กรีซ, สวีเดน, สแปน  และ 5 ประเทศและดินแดนที่นักเรียนได้ใช้คอมพิวเตอร์ในแต่ละวันต่ำที่สุด (Bottom 5) ได้แก่ โปแลนด์, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้, เกาหลีใต้ </i></b>
ทั้งนี้ ในเกาหลีใต้ นักเรียนใช้คอมพิวเตอร์กันในโรงเรียนเฉลี่ยเพียงคนละ 9 นาทีต่อวัน ส่วนในฮ่องกงก็เพียงคนละ 11 นาที ซึ่งต่างก็เป็นเศษเสี้ยวของนักเรียนในออสเตรเลียที่ใช้กันเฉลี่ยคนละ 58 นาทีต่อวัน, กรีซ 42 นาที และสวีเดน 39 นาที

“ในโรงเรียนที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ในห้องเรียนนั้น ผลกระทบเครื่องอุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้ที่มีต่อผลการเรียนของนักเรียน อย่างดีที่สุดที่สามารถพูดได้ก็คือ มีทั้งที่เป็นไปในทางบวกและที่เป็นไปในทางลบ” อันเดรียส ชเลเชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของโออีซีดี กล่าวไว้ในคำนำของรายงานฉบับนี้ซึ่งถือเป็นฉบับแรกในหัวข้อเรื่องนี้ของทางโออีซีดี

“นักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์บ่อยมากๆ ในโรงเรียน เป็นผู้ที่มีผลการเรียนแทบทุกด้านออกมาย่ำแย่กว่านักเรียนที่ได้ใช้น้อย แม้กระทั่งหลังจากนำเอาปัจจัยด้านภูมิหลังทางสังคมและโครงสร้างทางประชากรศาสตร์ของนักเรียน มาคิดคำนวณแล้ว”
<i><b>กราฟฟิกที่บีบีซีจัดทำขึ้นจากรายงานของโออีซีดี  แสดงให้เห็น 5 ประเทศและดินแดนที่มีอัตราส่วนจำนวนนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนน้อยที่สุด (Top 5) ได้แก่ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, มาเก๊า, สหราชอาณาจักร, สาธารณรัฐเช็ก   และ 5 ประเทศและดินแดนที่มีอัตราส่วนนี้มากที่สุด (Bottom 5) ได้แก่ โคลอมเบีย, สวีเดน, โปรตุเกส, โปแลนด์, ไอซ์แลนด์  </i></b>
ทั้งนี้รายงานฉบับนี้มุ่งศึกษาว่า การใช้เทคโนโลยีในโรงเรียน ส่งผลอย่างไรต่อผลการสอบด้วยข้อสอบมาตรฐานระหว่างประเทศ เป็นต้นว่า ข้อสอบ “ปิซ่า” ของโออีซีดี ซึ่งมีการนำออกมาให้นักเรียนในหลายสิบประเทศทั่วโลกได้ทำกัน ตลอดจนข้อสอบอย่างอื่นๆ ที่มุ่งวัดทักษะความชำนาญด้านดิจิตอล

รายงานพบว่าระบบการศึกษาซึ่งได้ทุ่มเทลงทุนในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารนั้น “ไม่มีการกระเตื้องดีขึ้นอย่างชัดเจน” ในผลการสอบด้านการอ่าน, คณิตศาสตร์, หรือวิทยาศาสตร์

โออีซีดีเรียกร้องในรายงานฉบับนี้ขอให้โรงเรียนต่างๆ ทำงานกับครูบาอาจารย์ เพื่อเปลี่ยนเทคโนโลยีให้กลายเป็นเครื่องมือในห้องเรียนที่ทรงพลังมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการทำการทดลองและการฝึกเลียนแบบ, สื่อสังคมและเกม ซึ่งมีความซับซ้อนครอบคลุมมากขึ้น

“คุณูปการอันแท้จริงที่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถให้แก่การเรียนการสอนได้นั้น ปัจจุบันยังไม่ได้ถูกทำออกมาให้เห็นจริง และยังไม่ได้ถูกนำเอามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่” รายงานฉบับนี้สรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น