รอยเตอร์ - ชาวเยอรมันกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้รู้สึกว่าถูกคุกคามโดยการไหลทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัยสู่ประเทศของพวกเขา โพลชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวันศุกร์ (11 ก.ย.) ระบุ แม้ว่าอีกผลสำรวจจะเปิดเผยว่ามีความไม่พอใจเกี่ยวกับวิธีที่เบอร์ลินกำลังรับมือวิกฤตนี้
เยอรมนีกำลังพยายามรับมือกับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพทางเศรษฐกิจในจำนวนที่มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเบอร์ลินคาดว่าจะเพิ่มอีกสี่เท่าเป็นราว 800,000 คนในปีนี้
ในการสำรวจที่สำนักโพลอินฟราเทสต์ดิแมปจัดทำให้กับสถานีวิทยุและโทรทัศน์สาธารณะเออาร์ดี ชาวเมืองเบียร์ 61 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า พวกเขาไม่เป็นกังวลกับจำนวนผู้ลี้ภัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ 38 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า สิ่งนี้ทำให้พวกเขารู้สึกกลัว
4 ใน 5 ระบุว่า การอพยพดังกล่าวไม่ได้ทำให้ชีวิตประจำวันของพวกเขาเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด มีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ระบุว่า จำนวนผู้ลี้ภัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างเห็นได้ชัด
โพลเรื่องเดียวกันนี้ของสำนักโพลอีลาเบที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (10) เผยว่า ความคิดเห็นของสาธารณะชนชาวฝรั่งเศสพลิกกลับไปทางให้การสนับสนุนเสียเป็นส่วนใหญ่สำหรับการที่จะรับผู้ลี้ภัยจากพื้นที่สงครามอย่างซีเรียมากขึ้น
อีกผลสำรวจหนึ่งที่สำนักโพลเอ็มนิดจัดทำให้กับช่องข่าวเอกชนเอ็น 24 เผยว่า ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ไม่พึงพอใจกับการรับมือวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล
ราว 2 ใน 3 ระบุว่า รัฐบาลเมืองเบียร์กำลังหน้าที่ได้อย่าง “ค่อนข้างแย่” หรือ “แย่มากๆ” โพลดังกล่าวเผย
ราว 36 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า รัฐบาลยังทำเพื่อช่วยผู้ลี้ภัยไม่มากพอ ขณะที่ 27 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า เบอร์ลินกำลังทำมากเกินไป
โพลของอินฟราเทสต์ดิแมปจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน โดยสำรวจคน 1,021 คน ขณะที่โพลของเอ็มนิดจัดทำขึ้นในวันที่ 9 กันยายน โดยสำรวจคน 1,000 คน
ซิกมาร์ กาเบรียล รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจระบุว่า ผู้ลี้ภัยอาจช่วยลดภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือในประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดแห่งนี้ของยุโรป และบริษัทต่างๆ ควรเริ่มโครงการฝึกอบรมให้กับผู้ลี้ภัยเพื่อเร่งการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม