xs
xsm
sm
md
lg

อังกฤษ-ฝรั่งเศสจับมือเยอรมนีอ้าแขนรับผู้อพยพ เตือนอียูข้อตกลงเชงเก้นพังครืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กหญิงผู้อพยพเดินผ่านแถวประชาชนชาวเยอรมนีที่มารอต้อนรับ หลังจากพวกเธอ ครอบครับและเหล่าผู้ลี้ภัยอีกหลายพันคนโดยสารรถไฟมาถึงสถานีเมืองมิวนิคเมื่อวันจันทร์(7ก.ย.) วิกฤตผู้อพยพคราวนี้ทำให้เยอรมนีและออสเตรีย ต้องเปิดชายแดนและผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการเดินทางเพื่ออนุญาตให้พวกเขาเดินทางมาจากฮังการี
เอเอฟพี/รอยเตอร์ - อังกฤษและฝรั่งเศสเมื่อวันจันทร์(7ก.ย.) เข้าร่วมกับเยอรมนี ประกาศอ้าแขนรับผู้อพยพหลายหมื่นคนท่ามกลางวิกฤตผู้คนหลบหนีภัยสงครามและความทุกข์ยากไหลบ่าเข้าสู่ยุโรปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมชี้หากยุโรปไม่ร่วมมือกันข้อตกลงเชงเก้นก็จะพังครืน ขณะเดียวกันสถานการณ์ที่ด่านหน้าบนเกาะแห่งหนึ่งของกรีซก็ตึงเครียดนักท่ามกลางคำเตือนว่ามันใกล้ระเบิดแล้ว

เหล่าผู้นำยุโรปกำลังตะเกียกตะกายหาทางแก้ไขวิกฤติผู้อพยพหลังความขัดแย้งนองเลือดในซีเรีย อิรักและอื่นๆ ได้ผลักให้ผ้คนนับแสนตะเกียกตะกายเสี่ยงชีวิตร่องเรือผ่านคาบสมุทรบอลข่านและข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมายังอียู

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐฒนตรีเยอรมนี ซึ่งประเทศของเธอคือจุดหมายปลายทางลำดับต้นๆของผู้อพยพ กล่าวชื่นชมประชาชนเมืองเบียร์ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อผู้ประสงค์ลี้ภัยราว 20,000 คน ที่ขึ้นรถไฟหลั่งไหลมาจากชายแดนตอนใต้เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และประกาศอัดฉีดงบประมาณหลายพันล้านล้านยูโร สนับสนุนด้านที่พักอาศัยแก่พวกเขา

ในการส่งสัญญาณว่าการเดินทางมาถึงระลอกใหญ่ของผู้อพยพคือเหตุการณ์สำคัญของชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ที่สุดของยุโรปแห่งนี้ นางแมร์เคิลบอกว่า "สิ่งที่เรากำลังประสบในตอนนี้ จะเป็นบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศของเราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราต้องการเปลียนแปลงในทางบวก และเราเชื่อว่าสามารถประสบความสำเร็จได้"

อียูที่ถูกกดดันอย่างหนักจากเบอร์ลินและปารีสนั้น ในที่สุดก็ลุกขึ้นมาเตรียมพร้อมระบบโควตาใหม่ โดยที่ภายใต้ข้อเสนอของฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปนั้น เยอรมนีและฝรั่งเศส 2 ชาติเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่สุดในอียู จะรองรับผู้อพยพเกือบครึ่งหนึ่งของ 120,000 คนที่ขณะนี้อยู่ในกรีซ อิตาลี และฮังการี

ทั้งนี้ฝรั่งเศสเผยว่าจะอ้าแขนรับผู้ลี้ภัย 24,000 คนภายใต้แผนดังกล่าว ส่วนเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เผยว่าประเทศของเขาจะรับผู้อพยพชาวซีเรียจากแคมป์ต่างๆใกล้ชายแดนประเทศที่ถูกฉีกขาดด้วยสงคราม 20,000 คนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขณะที่รัฐควิเบก ของแคนาดา ฝั่งตรงข้ามมหาสมุทรแอตแลนติด ระบุในปีนี้ยินดีต้อนรับผู้ลี้ภัยซีเรีย 3,650 คน

ในกรีซ รัฐมนตรีคนเข้าเมืองเตือนว่าสถานการณ์บนเกาะเลสบอส ใกล้ชายแดนตุรกี ใกล้ระเบิดแล้ว เนื่องจากช่วงหลายวันที่ผ่านมาต้องรองรับผู้ลี้ภัยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรีย มากกว่า 15,000 คน ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆนี้ ก็ได้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้อพยพ และระหว่างผู้ลี้ภัยด้วยกันแต่เป็นคนละชาติ หลายต่อหลายรอบ

นับตั้งแต่ต้นปี มีผู้ลี้ภัยข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมายังยุโรปแล้วกว่า 366,402 คน โดยในนั้น 51 เปอร์เซนต์เป็นชาวซีเรีย ทั้งนี้เยอรมนี ให้การต้อนรับผู้อพยพอีกราว 2,000 คนเมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์(7ก.ย.) หลังจากผู้อพยพมากกว่า 20,000 คน เดินทางโดยรถไฟราวๆ 100 ขบวน มาจากฮังการีผ่านออสเตรียเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่เยอรมนีคาดว่า จะมีผู้อพยพเดินทางเข้าประเทศรวม 800,000 คนจนถึงสิ้นปี หรือเป็น 4 เท่าตัวของปีที่แล้ว โดยผู้อพยพเหล่านี้จำนวนมากมาจากซีเรีย อิรัก และเอริเทรีย ขณะที่ แมร์เคิล เผยว่าได้จัดสรรเงิน 6,000 ล้านยูโร (6,700 ล้านดอลลาร์) เพื่อใช้ในการดูแลผู้อพยพระลอกใหม่นับแสนคนที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือที่จัดเตรียมไว้รองรับครอบคลุมทั้งด้านที่พักอาศัย การเพิ่มกำลังตำรวจ และการสอนภาษา

ถึงแม้เยอรมนีเตรียมการรองรับผู้อพยพจำนวนมากที่สุด แต่แมร์เคิลก็เรียกร้องสมาชิกอื่นๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) ร่วมช่วยเหลือผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น โดยเธอย้ำว่าสมาชิกชาติอื่นๆของอียูต้องรับผู้อพยพเพิ่มเติม เพราะมีเพียงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของยุโรปเท่านั้นที่จะทำให้ความพยายามจัดการกับปัญหานี้ประสบความสำเร็จ

ด้านฟรังซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เตือนว่าจนกว่าทางอียูจะมีความพยายามเป็นหมู่คณะอย่างใหญ่หลวง แก่นกลางของแนวคิดชายแดนเสรีของยุโรปจะตกอยู่ในอันตราย "หากปราศจากนโยบายร่วมกัน กลไกลนี้จะไม่ได้ผล มันจะพังครืน และไม่ต้องสงสัยว่ามันจะเป็นจุดจบของเชงเก้น หวนคืนสู่ระบบเขตแดนแต่ละประเทศ"

อย่างไรก็ตามดูเหมือนยุโรปยังไม่ใกล้เคียงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดย นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ เออร์บันของฮังการี เย้ยหยันความพยายามของอียูในการกระจายความรับผิดชอบต่อผู้อพยพ โดยชี้ว่า ระบบโควตาดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้จริง เนื่องจากขัดแย้งกับข้อตกลงเชนเกนที่อนุญาตให้ประชาชนในอียูเดินทางได้อย่างเสรี พร้อมตอบโต้เสียงวิจารณ์ของผู้นำบางชาติที่ว่า ฮังการีเป็นแกะดำ

ภายใต้ข้อเสนอระบบโควตาใหม่ซึ่งจะเปิดเผยในวันพุธนี้ (9) เยอรมนีจะรับผู้อพยพ 31,443 คน, ฝรั่งเศส 24,031 คน และสเปน 14,931 คน

นายกรัฐมนตรีแวร์เนอร์ เฟย์มาน ของออสเตรีย และผู้นำอื่นๆ ในอียูกล่าวหาออร์บันว่า ทำให้ออสเตรียและเยอรมนีไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเปิดพรมแดนรับผู้อพยพนับหมื่น นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยจำนวนมากยังเล่าว่า ถูกเพิกเฉยและละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮังการี

ด้านโรมาเนีย บอกว่าสามารถรองรับผู้อพยพได้สูงสุด 1,785 คน ในแผนงานที่ดำเนินการโดยสมัครใจเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันของสหภาพยุดรปจากเหล่าผู้อพยพที่ไหลบ่าหลบหนีภัยสงครามมาจากตะวันออกกลาง แต่คัดค้านการบังคับแบ่งโควตาใดๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น