เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – หลังจากที่มีรายงานวิจัย IAEA ที่ฟูกูชิมะ พื้นที่ประสบภัยด้านรังสีนิวเคลียร์ ออกมาล่าสุดสรุปว่า “ไม่พบความเสี่ยงของมะเร็งต่อมไทรอยด์เด็กในฟูกูชิมะ” ทำให้กลุ่มกรีนพีซ หน่วยงาน NGO ด้านสิ่งแวดล้อมได้ออกแถลงการณ์โจมตีวันนี้(2)ว่า “เป็นแค่วาทะจัดฉากทางการเมือง ไม่มีความจริงด้านวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด”
RT สื่อรัสเซียรายงานวันนี้(2)ว่า เมื่อวานนี้(1) IAEA กล่าวว่า ถึงแม้จะไม่มีความแน่นอนบ่งชี้ถึงการรับสารกัมมันตภาพรังสีที่เด็กได้รับอย่างทันทีหลังเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของบริษัทเทปโก้ แต่ทว่ายังไม่มีข้อบ่งชี้แน่ชัดว่า จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเด็กที่มีแนวโน้มสูงขึ้นสืบเนื่องมาจากเหตุครั้งนั้น”
และเป็นผลทำให้ทางกลุ่มกรีนพีซ กลุ่มNGOด้านสิ่งแวดล้อมออกแถลงการณ์กล่าวโต้ในวันพุธ(2)ว่า เป็นเพียงแค่จัดฉากทางการเมืองเท่านั้น “ไม่มีใครทราบอย่างชัดแจ้งถึงจำนวนสารกัมมันตภาพรังสีที่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับในทันทีหลังจากเกิดเหตุขึ้น และหากไม่สามารถตรวจวัดค่าที่แท้จริงได้ ไม่เห็นควรที่จะด่วนสรุปออกมาว่าไม่มีผลต่อเนื่องตามมาหลังจากนั้น เพราะในการเร่งด่วนสรุปเช่นนั้นเป็นเพียงแค่วาทะจัดฉากทางการเมืองเท่านั้น หาใช่เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์" เคนดรา อุลริช(Kendra Ulrich) นักเคลื่อนไหวด้านพลังงานระดับสากลร่วมกับกลุ่มกรีนพีซญี่ปุ่นกล่าวผ่านแถลงการณ์
ทั้งนี้ RT ชี้ว่า จากการรายงานของ IAEA ได้แสดงถึงเหตุผลที่ไม่มีข้อมูลตัวเลขแน่นหนาถึงการรับสารกัมมันตภาพรังสีของประชาชนชาวกูฟุชิมะอย่างทันทีเป็นเพราะความโกลาหล และการไม่สามารถรับมือได้ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นญี่ปุ่นถึงเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อรายงานถึงผลกระทบจากสารกัมมันตภาพรังสีจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานพลังงานนิวเคลียร์เทปโก้ในเดือนมีนาคม 2011
นอกจากนี้ IAEA ยังระบุถึงสาเหตุอื่น เป็นต้นว่า สืบเนื่องมาจากระบบความปลอดภัยและการออกแบบที่หละหลวมของโรงงานไฟฟ้าฟูกูชิมะ และนอกจากนี้ ความล้มเหลวยังลามไปถึงความสามารถของรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นในการจัดการแก้ปัญหาวิกฤตได้อย่างทันท่วงที และรวมไปถึงความไร้ประสิทธิภาพในการแจกจ่ายไอโอไดน์ในพื้นที่ประสบภัยเพื่อป้องกันผลกระทบจากภัยกัมมันตภาพรังสีสู่ร่างกายมนุษย์
อย่างไรก็ตาม กรีนพีซกลับชี้ว่า ข้ออ้างเหล่านั้นเป็นหลักฐานชั้นดีที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของทั้งเทปโก้และรัฐบาลญี่ปุ่น และเป็นสิ่งที่สดงให้เห็นว่า ยังคงมีอันตรายเกิดขึ้นจากผลกระทบที่ได้รับจากสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจริง
และในขณะเดียวกัน สื่อญี่ปุ่นรายงานการพบล่าสุดถึงกรณีผู้ป่วยเด็กในพื้นที่ฟูกูชิมะที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ และส่งผลทำให้ยอดตัวเลขรวมของผู้ป่วยเด็กโรคนี้อยู่ที่ 104 คนจากเด็กจำนวนทั้งหมดที่อยู่ในที่ประสบภัยในเขตฟูกูชิมะในช่วงเวลาเกิดเหตุ 385,000 คน
ซึ่งสื่อญี่ปุ่น อาซาฮีชิมบุน รายงานว่า คณะกรรมการพื้นที่ฟูกูชิมะของภาครัฐได้ทำการตรวจสอบในเรื่องความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเด็ก และพบว่า “ไม่มีความเชื่อมโยงถึงการป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ในพื้นที่และเหตุการณ์ไฟไหม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เทปโก้แต่อย่างใด”
นอกจากนี้ทางกลุ่มกรีนพีซยังได้ประณามว่า IAEA มีส่วนสำคัญในการปกปิดความจริงในเรื่องนี้ “รายงาน IAEA ออกมาเพื่อสนับสนุนรัฐบาลญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ และประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของประชาคมโลก เพื่อสร้างภาพให้ถูกเข้าใจผิดว่า ทุกอย่างสามารถกลับคืนปกติได้หลังจากเกิดเหตุวิกฤตนิวเคลียร์เทปโก้ขึ้น” กรีนพีซกล่าวผ่านแถลงการณ์
ทั้งนี้อุลริชได้โจมตีต่อว่า รัฐบาลอาเบะยังได้ส่งสัญญาณไฟเขียวให้ประชาชนฟูกูชิมะสามารถอพยพกลับเข้ามาอาศัยในบ้านเรือนของพวกเขาได้อีกครั้ง ถึงแม้คนเหล่านั้นอาจจะยังต้องเสี่ยงต่อการได้รับสารกัมมันตภาพรังสีต่อไปก็ตาม
และในแถลงการณ์ของกลุ่มกรีนพีซ ทางกลุ่มยังอ้างถึงการค้นพบภัยอันตรายต่อสารกัมมันภาพรังสีในระดับสูงในพื้นที่ฟูกูชิมะที่ถูกตรวจพบในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และทำให้ทางกรีนพีซชี้ว่า จากภัยมืดนี้ทำให้ “ไม่มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนในพื้นที่จะกลับเข้าไปอาศัยในเขตฟูกูชิมะได้อีกครั้ง”
RT รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนยกเลิกคำสั่งอพยพภายในช่วงหน้าฤดูใบไม้ผลิปี 2017 ในหลายพื้นที่ซึ่งทอดยาวครอบคลุมไปถึงรัศมี 20 กม.ห่างจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ จากการที่ในพื้นที่อื่นๆมีระดับการปนเปื้อนสูงมาก
ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบยังคงไม่สามารถเดินทางกลับได้ถึง 79,000 คนจากพื้นที่ทั้งหมด 10 แห่งที่ถูกรัฐบาลญึ่ปุ่นสั่งอพยพออกนอกพื้นที่