รอยเตอร์ - หลังจากที่วาทกรรม “anchor babies” ได้กลายเป็นสีสันใหม่ในแคมเปญหาเสียงของบรรดาผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯในนามพรรครีพับลิกัน ล่าสุดหนึ่งในผู้สมัครตัวเก็งอย่าง เจบ บุช ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า เขาใช้คำนี้เพื่อหมายถึง “คนเอเชีย” ที่เดินทางเข้ามาคลอดบุตรในสหรัฐฯ โดยหวังให้เด็กที่เกิดมาได้สัญชาติอเมริกัน ส่วนที่ตนถูกวิจารณ์ว่าดูถูกผู้อพยพชาวเม็กซิโกนั้นก็เป็นเรื่องน่าขำ
ระหว่างการแถลงข่าวที่เมืองแม็คแอลเลน รัฐเทกซัส ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนเม็กซิโก ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม บุช เกี่ยวกับคำว่า anchor babies ที่เขาได้ให้สัมภาษณ์ทางวิทยุเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การใช้คำนี้อาจจะทำให้เขาเสียคะแนนนิยมในหมู่ชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกหรือไม่
“ทุกคนก็เห็นอยู่ว่า ผมมีพื้นเพ ชีวิต และประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับผู้อพยพมานาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าขำที่ (ฮิลลารี) คลินตัน และคนอื่นๆ กล่าวหาว่าผมใช้ถ้อยคำดูหมิ่นผู้อพยพ” บุชซึ่งมีภรรยาเกิดในเม็กซิโกกล่าว ทั้งยังเลือกตอบบางคำถามด้วยภาษาสเปนอีกด้วย
“ที่ผมพูดไปนั้น ผมกำลังหมายถึงพฤติกรรมฉ้อฉลซึ่งทำกันเป็นขบวนการ ถ้าจะว่ากันตรงๆ ก็หมายถึงคนเอเชียที่เข้ามาในประเทศเราเพื่อคลอดบุตร โดยหวังให้บุตรได้เป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด”
บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 14 ในรัฐธรรมนูญอเมริกัน ให้สิทธิความเป็นพลเมืองแก่เด็กทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินสหรัฐฯ ไม่ว่าบิดามารดาของเด็กจะเป็นชาวอเมริกันหรือไม่ก็ตาม
นักวิจารณ์ในสหรัฐฯ บางคนใช้คำว่า anchor babies เพื่อหมายถึงบุตรของผู้อพยพผิดกฎหมายที่เกิดในสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อพยพจากละตินอเมริกา ทำให้องค์กรผู้อพยพมองว่าคำคำนี้มีความหมายในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยาม
บุช ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดาและบุตรชายคนเล็กของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู บุช ออกอาการรำคาญนิดๆ ที่ต้องอธิบายซ้ำซาก หลังจากที่ให้สัมภาษณ์ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ไม่เสียใจ” ที่ใช้คำนี้ และยืนยันว่าไม่มีคำพูดอื่นที่ตรงใจกว่านี้อีกแล้ว
หลังจากที่ บุช เลือกใช้คำว่า anchor babies เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเป็นตัวเก็งของฝ่ายเดโมแครตก็ถือโอกาสโจมตีผ่านทวิตเตอร์ทันทีว่า “They’re called babies”
“ผมสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 14 และทุกสิ่งที่ผมได้พูดไปไม่น่าจะถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นผู้อพยพเลยสักนิดเดียว” บุชกล่าวย้ำต่อสื่อมวลชน
“ผมกำลังหมายถึงกลุ่มคนที่วางแผนพาผู้หญิงต่างชาติที่ตั้งครรภ์เข้ามาในสหรัฐฯ เพื่อให้คลอดบุตรที่นี่ และเด็กจะได้เป็นพลเมืองของที่นี่” บุชกล่าว พร้อมระบุว่าพฤติกรรมเช่นนี้เข้าข่าย “ฉ้อฉล”
เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ให้คำจำกัดความ “การท่องเที่ยวเชิงผดุงครรภ์” (maternity tourism) ไว้ว่า เป็นธุรกิจบริการนำผู้หญิงต่างชาติที่มีฐานะดี (โดยเฉพาะชาวจีน) เดินทางมายังสหรัฐฯ เพื่อคลอดบุตร ซึ่งจะทำให้เด็กที่เกิดมาได้สัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ
เมื่อวานนี้ (24) สภาชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย-แปซิฟิกแห่งชาติสหรัฐฯ (National Council of Asian Pacific Americans) ได้แถลงประณาม “การใช้คำ anchor babies ซึ่งมีความหมายในเชิงดูหมิ่นดูแคลน”
สมาคมแห่งนี้อ้างถึงกฎหมายรัฐบัญญัติกีดกันชาวจีนในปี 1882 (Chinese Exclusion Act) “และมาวันนี้ยังมีการเรียกพวกเราว่าเป็น anchor babies อีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกยังคงถูกแบ่งแยกกีดกันอย่างรุนแรง”
ผู้สมัครสายรีพับลิกันหลายคนพยายามชูนโยบายแก้ปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้กระทบจิตใจชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญ
ชาวฮิสแปนิกซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากเม็กซิโกเป็นประชากรกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดในสหรัฐฯ และยังเป็นฐานเสียงที่สำคัญทั้งต่อพรรครีพับลิกันและเดโมแครตที่ต้องการช่วงชิงความเป็นใหญ่ในทำเนียบขาว
ก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีปากเปราะซึ่งเป็นผู้สมัครเต็งหนึ่งของรีพับลิกัน ก็ได้ออกมาชูนโยบายยกเลิกการให้สัญชาติอเมริกันโดยกำเนิด (birthright citizenship) ซึ่งเขาบอกว่าเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้อพยพไม่มีทะเบียนให้พยายามเข้ามาตั้งรกรากในอเมริกา