เอพี / เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ทางการแอฟริกาใต้เปิดเผยในวันพุธ (12 ส.ค.) โดยระบุ จำนวนประชากร “แรด” ที่ตกเป็นเหยื่อของเหล่าผู้ล่าสัตว์ป่าได้เพิ่มสูงขึ้นจนเป็นสถิติใหม่ เตรียมหามาตรการเชิงรุกปกป้องสายพันธุ์สัตว์ซึ่งเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของประเทศ
รายงานข่าวล่าสุดจากนครโยฮันเนสเบิร์ก ซึ่งอ้างการเปิดเผยข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลแอฟริกาใต้ ระบุว่า เฉพาะในปี 2014 ที่ผ่านมา เพียงปีเดียวมีแรดสายพันธุ์ต่าง ๆ ถูกล่าในเขตแดนของแอฟริกาใต้ไปถึง 1,215 ตัว ส่งผลให้ปี 2014 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่มีสถิติแรดถูกล่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของแอฟริกาใต้
อย่างไรก็ดี บรรดากลุ่มเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าในแอฟริกาใต้หลายกลุ่ม ระบุตรงกันว่า ในความเป็นจริงแล้ว จำนวนของแรดที่ถูกล่าน่าจะสูงกว่าข้อมูลของทางการอีกมาก พร้อมเรียกร้องให้ทางการเร่งหามาตรการเชิงรุกในการปกป้องแรดจากการตกเป็นเหยื่อของขบวนการล่า
ล่าสุด รัฐบาลแอฟริกาใต้ประกาศแผนปกป้องแรด โดยเฉพาะสายพันธุ์แรดดำ จากการตกเป็นเหยื่อของขบวนการลักลอบล่าสัตว์ป่า โดยเตรียมนำ “โดรน” หรืออากาศยานไร้นักบินออกลาดตระเวนทางอากาศตามเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตสงวนทั่วประเทศเพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวของนักล่าสัตว์ป่า ตลอดจนบันทึกจำนวนซากของแรดที่เสียชีวิตเองตามธรรมชาติจากการเจ็บป่วย หรือตกเป็นอาหารของสัตว์นักล่าในพื้นที่ เช่น สิงโต
ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมแอฟริกาใต้ ระบุว่า ในปัจจุบันจำนวนประชากรตามธรรมชาติของแรดดำ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติของตนนั้นเหลืออยู่ราว 4,800 ตัว ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ลดลงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเมื่อหลายสิบปีก่อน
รายงานของรัฐบาลแอฟริกาใต้ ระบุว่า แรดในประเทศของตน และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกากำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากขบวนการลักลอบล่าสัตว์ป่าที่ต้องการนำ “นอ” ของพวกมันไปจำหน่ายใน “ตลาดมืด” เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีค่านิยมในการนำนอแรดไปเป็นส่วนผสมของยาบำรุงกำลังทางเพศ และนำไปทำเป็นของประดับตกแต่ง โดยเฉพาะใน “เวียดนาม” ที่ได้ชื่อว่าเป็นตลาดค้านอแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในเวลานี้