xs
xsm
sm
md
lg

‘อาเบะ’บอกจะไม่พูด ‘ขอโทษ’ ในคำปราศรัยวาระ70ปีสิ้นสงครามโลกครั้งที่2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Japan’s Abe says no ‘apology’ in WWII statement
07/08/2015

สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานว่า ระหว่างหารือกับพวกผู้นำของพรรคโคเมอิโตะ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลผสมของเขาเมื่อวันศุกร์ (7 ส.ค.) ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แสดงท่าทีไม่โอนอ่อนต่อเสียงรบเร้าของฝ่ายโคเมอิโตะ และยืนยันว่า ในคำปราศรัยของเขาเนื่องในวาระครบรอบ 70 ปีแห่งการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสัปดาห์หน้า จะไม่มีคำว่า “ขอโทษ”

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น จะไม่ใช้คำว่า “ขอโทษ” ในคำปราศรัยที่เขาจะขึ้นกล่าว เนื่องในวาระครบรอบ 70 ปีแห่งการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาบอกเช่นนี้กับหัวหน้าพรรคโคเมอิโตะ (Komeito) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลผสมเมื่อวันศุกร์ (7 ส.ค.) ที่ผ่านมา

นาสึโอะ ยามางูชิ (Natsuo Yamaguchi) หัวหน้าพรรคโคเมอิโตะ พยายามรบเร้า อาเบะ ให้ “ใช้ถ้อยคำที่เป็นการแสดงจิตสำนึกของการขอโทษ” เขายังเรียกร้องนายกรัฐมนตรีให้กล่าวถึงลัทธิแผ่ขยายอำนาจของญี่ปุ่นในยุคจักรวรรดิ (Imperial Japan) [1] ว่าเป็น “การก้าวร้าวรุกราน” อย่างที่พวกผู้นำของญี่ปุ่นในอดีตได้เคยแถลงเอาไว้ เป็นต้นว่า โทมิอิชิ มูรายามะ (Tomiichi Murayama) ในคำปราศรัยเมื่อปี 1995 เนื่องในวาระครบรอบครึ่งศตวรรษแห่งการสิ้นสุดของสงครามคราวนี้

ไม่เพียงเท่านั้น มูรายามะ หัวหน้าพรรคแนวทางสังคมนิยม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของคณะรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคหลายๆ พรรค รวมถึงพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party ใช้อักษรย่อว่า LDP) ของ อาเบะ ด้วย ยังได้ใช้คำว่า “ขอโทษ” เช่นเดียวกับ จุนอิชิโร โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) ที่เป็นหัวหน้าพรรค LDP ด้วยซ้ำ ก็ได้ใช้คำว่า “ขอโทษ” นี้ ในการกล่าวปราศรัยในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปีการสิ้นสุดสงครามเมื่อปี 2005

อาเบะกล่าวว่า เขาจะทำให้เป็นที่ชัดเจนว่า คำปราศรัยของเขาสืบต่อประเพณีเรื่องทัศนะความเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงสงคราม ของคณะรัฐมนตรีชุดก่อนๆ แต่ ยามางูชิ โต้แย้งว่า การใช้ถ้อยคำเพียงแค่นั้น “ยังไม่สร้างความชัดเจนเพียงพอว่า สิ่งที่กำลังสืบต่อนั้นคืออะไรกันแน่”

อาเบะได้ยุติการอภิปรายถกเถียงคำปราศรัยดังกล่าวนี้กับฝ่ายโคเมอิโตะแล้ว ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเข้าร่วมการประชุมหารือในวันศุกร์ (7 ส.ค.) ด้วย “นับจากนี้ไป ท่านนายกฯจะทำการตัดสินใจครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับเนื้อหาถ้อยคำของคำปราศรัยนี้” บุคคลผู้นี้ระบุ

ทั้งเลขาธิการพรรค LDP ซาดากาซุ ทานิงากิ (Sadakazu Tanigaki), เลขาธิการพรรคโคเมอิโตะ โยชิฮิซะ อิโนอูเอะ (Yoshihisa Inoue), และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ (Yoshihide Suga) ต่างนั่งอยู่ในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี (6 ส.ค.) ระบุว่า คณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งอาเบะแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้คำปรึกษาเขาในเรื่องคำปราศรัยคราวนี้ ได้ยอมรับการใช้คำว่า “การก้าวร้าวรุกราน” และ “การปกครองแบบอาณานิคม” ของญี่ปุ่น ทว่าหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงประเด็นที่ว่า คำปราศรัยคราวนี้ของอาเบะจำเป็นต้องมีการกล่าวคำขอโทษหรือไม่ ตัวอาเบะเองนั้นได้เคยบอกว่าคำปราศรัยนี้จะแสดง “ความเสียใจสำนึกผิด” ต่อการกระทำต่างๆ ของญี่ปุ่น พร้อมเน้นย้ำการมุ่งมั่นแสวงหาสันติภาพในยุคหลังสงครามของญี่ปุ่น, และวาดภาพให้เห็นประเทศชาติหนึ่งซึ่งกำลังมุ่งมั่นเน้นหนักไปยังอนาคต

(จาก นิกเคอิ เอเชียน รีวิว Nikkei Asian Review)

หมายเหตุผู้แปล

[1]ญี่ปุ่นในยุคจักรวรรดิ (Imperial Japan) หรือ จักรวรรดิญี่ปุ่น (Empire of Japan) หมายถึงรัฐชาติญี่ปุ่นในอดีต ตั้งแต่ “การปฏิรูปเมจิ” (Meiji Restoration) เมื่อวันที่ 3 มกราคม 1868 ไปจนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 1947 ของญี่ปุ่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ข้อมูลจาก Wikipedia)
กำลังโหลดความคิดเห็น